Some Space Gallery: พื้นที่ศิลปะใจกลางคูเมืองที่เปิดรับทุกความเป็นไปได้ในโลกศิลปะ

ไม่นานนี้ Liz Hope จัดนิทรรศการสุดมันชื่อ Unboxed เพื่อระดมทุนให้กับเพื่อนไร้พรมแดน โดยมีฉากหลังคือ Some Space Gallery ซึ่งนั่นเป็นโอกาสที่ทำให้เรารู้จักกับไอซ์-วิรินสิริ ชมเชย ผู้ก่อตั้งของที่นี่

ถ้าใครอยู่ในวงการศิลปะท้องถิ่นที่เชียงใหม่น่าจะพอรู้จักที่นี่บ้างอยู่แล้ว มันคือแกลเลอรี่ที่ตั้งอยู่ในอาคารใจกลางคูเมือง ซึ่งเปิดพื้นที่ให้กับศิลปินที่ไม่ว่าจะทำงานในรูปแบบไหน ก็สามารถมาใช้พื้นที่เหล่านี้ในการแสดงออกถึงความเป็นตัวเองด้วยเครื่องมือศิลปะ รวมไปถึงนักศึกษาศิลปะที่อาจไม่ได้มีทุนทรัพย์มากนัก ที่นี่จึงทำให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในโลกศิลปะจากงานทุกรูปแบบ จากศิลปินทุกเพศ ทุกวัย ทุกสัญชาติ เท่าที่เราจะนึกออก

ซึ่งถ้าใครสักคนจะลุกขึ้นมาทำอะไรอย่างนี้ ก็ต้องเป็นคนธรรมดาที่รัก หลงใหล และอยากมีพื้นที่เพื่อเปิดโลกศิลปะ และไอซ์ก็คือคนนั้น นักศึกษาปริญญาโทผู้ใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นในโครงการแลกเปลี่ยน ที่เคยผจญภัยในโลกการจัดอีเวนต์ และทำงานเชิงธุรกิจที่รู้สึกว่าเนื้องานทั้งหลายไม่ตอบโจทย์ชีวิต เธอสำรวจตัวเองผ่านการลงมือทำ ลองผิด ลองถูก (ที่ส่วนมากมักจะผิดด้วย-ฮา) จนจังหวะชีวิตพัดพาให้เธอได้ห้องในตึกแถวเล็กๆ ทำพื้นที่ศิลปะในแบบที่เธอทำจริงๆ

“มันเริ่มแค่เราอยากทำอย่างเดียวเลย” ไอซ์ว่า

จากที่เรานั่งคุยกับคนธรรมดามาเกือบหนึ่งปี เราค้นพบว่าความ “อยาก” เปลี่ยนสังคม เปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นมันเซ็กซี่มาก ความอยากเหล่านี้มันเต็มไปด้วยแพสชั่น เต็มไปด้วยพลัง ที่อย่างน้อยแรงเล็กๆ เหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในชุมชน ในพื้นที่ และในประเด็นที่เขาสนใจ

ปกติแล้ว Some Space Gallery จะเป็นพื้นที่เพื่อเปิดนิทรรศการให้คนอื่นเข้ามาชม แต่คราวนี้มันจะต่างออกไป เพราะมันคือนิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวการประกอบสร้างพื้นที่ศิลปะ และเรื่องราวที่ไอซ์เรียนรู้จากการทำงานในพื้นที่แห่งนี้

ไม่มีกฎเกณฑ์อะไรสำหรับการเข้าชม ดังนั้น ขอให้เพลิดเพลินกับนิทรรศการ

โซนที่ 1
ตำแหน่งแห่งที่ที่ถูกต้อง

ไอซ์จบปริญญาตรีด้านศิลปะ ก่อนจะเข้าไปทำงานสายอีเวนต์อยู่ช่วงใหญ่ๆ 

โลกของการทำอีเวนต์และการทำสื่อเชิงพาณิชย์ที่มีการแข่งขันสูง เม็ดเงินที่มาก และความกดดันในการผลิตงานให้สอดรับกับความต้องการของลูกค้า รวมถึงการแข่งกับเวลาและคู่แข่งในแวดล้อม มันขัดแย้งกับอุดมการณ์ในใจของไอซ์ที่ยังสนใจประเด็นทางสังคมอย่างเข้มข้น 

ช่วงเวลานั้นมันทำให้เธอรู้ว่า โลกที่เธอทำงาน ไม่ใช่ตำแหน่งแห่งที่ของเธอเลย

“เราเคยเป็นคนสนใจหรือแคร์กับประเด็นที่มันเกิดขึ้นในสังคมมากๆ แต่ว่าพอเราต้องไปทำงานตรงนั้น สภาพแวดล้อมมันไม่เอื้อต่อความรู้สึกนั้นเลย อย่างเช่น ทุนนิยมแบบการ Pitching โครงการ หรือว่าการที่เราเป็นคนเขียนโครงการให้หน่วยงานเพื่อเปิด Pitching เพื่อไปเปิด Open Call แล้วให้เขามาเลือกเราอีกที เราก็เห็นกระบวนการนี้จนเริ่มกลายเป็นเรื่องปกติ แต่มันทำให้เรารู้สึกว่าทำไมแหล่งอำนาจเขาไม่มีความรับผิดชอบอะไรเลย ซึ่งเรารู้สึกไม่ชอบแล้วก็ตะขิดตะขวงใจมาตลอด

“เราทำงานหนักมาก และเรารับรู้ว่าสิ่งนั้นมันไม่ใช่ของเรา หรือมันไม่ใช่สิ่งที่เราอยากทำจริงๆ มันไม่มีแรงผลักดันกับงานที่เขาขอให้เราทำเลย จนถึงจุดหนึ่งมันเหนื่อยจนถามตัวเองว่าเราทำอะไรอยู่ นี่ทำอะไรอยู่หรอ มันเป็นช่วงที่ก็งงๆ กับชีวิตด้วยเหมือนกันนะ นี่ทำอะไรอยู่ ทำไปเพื่อใครเหรอ เราก็เลยเลือกที่จะลาออก เพราะตอนนั้นไม่มีงานอะไรด้วย ลาออกแบบ ฉึบ” ไอซ์เล่า

อีกหนึ่งเรื่องที่ไอซ์แบ่งปันให้เราฟังคือ การทำงานในฐานะ First Jobber ที่ยึดโยงกับช่วงเวลาการชุมนุมเมื่อปี 2563 ด้วยภาระงานต่างๆ จึงทำให้ไอซ์ไม่ได้ลงไปขับเคลื่อนหรือเป็นส่วนหนึ่งในการเคลื่อนไหวเลย

“สถานะทางการเงินและครอบครัวมันเค้นให้เราต้องทำงานเช้าจรดค่ำทุกวัน ซึ่งตอนนั้นเราเสียดายมาก เป็นจุดที่อยากไปแต่ว่าไปไม่ได้ สิ่งที่เราเห็นในช่วงประท้วงใหญ่ก็คือ เราเคารพน้องๆ ที่มีแรงพอที่จะไปและมีแรงใจที่จะไป เพราะเราก็รู้จักหลายคนที่เป็นรุ่นน้องในคณะ เราก็บอกน้องๆว่า มีอะไรให้ช่วยไหม ในแบบที่ฉันไปตรงนั้นไม่ได้ มันก็จะมีการบริจาคบ้าง หรือทำงานศิลปะส่งไปบ้าง หรือทำกราฟิกให้ แต่ว่าตัวเราไม่ได้ไปอยู่ตรงนั้นเลย ซึ่งก็เสียดายพอสมควร”

โซนที่ 2
โตเกียว และ เชียงใหม่

จากนั้นไอซ์จึงเรียนต่อปริญญาโท และได้รับเลือกให้เป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่ Tama Art University มหาวิทยาลัยศิลปะในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ช่วงเวลาเหล่านั้นเป็นการเปิดโลกทัศน์ทางศิลปะ และการเคลื่อนไหวของไอซ์เป็นอย่างมาก เธอได้พบกับนักกิจกรรมที่ทำงานในประเด็นที่หลากหลายในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งส่วนหนึ่งใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือสื่อสาร รวมถึงการเห็นพื้นที่ทางศิลปะที่กระจัดกระจายอยู่ในตัวเมืองทั้งขนาดเล็กและใหญ่

สิ่งเหล่านั้นบันดาลใจให้ไอซ์เลือกเส้นทางใหม่ หลังจากกลับจากดินแดนอาทิตย์อุทัย เธอเดินทางขึ้นมาที่จังหวัดเชียงใหม่-เมืองหลวงกลายๆ ของนักกิจกรรมและคนทำงานเชิงสังคม

อย่างที่เราพอเล่าไปบ้างว่า หลายๆ คนที่เลือกขึ้นมาที่นครพิงค์แห่งนี้และเลือกหยิบจับประเด็นสังคมขึ้นเป็นวาระหลักในการใช้ชีวิต พวกเขาตื่นเต้นและตื่นตากับความแข็งแรงของผู้คนในชุมชนนี้อย่างมาก 

ไอซ์ก็เช่นกัน

“จริงๆ เราเกิดที่ชลบุรี ถ้าให้เราเลือกระหว่างอยู่กรุงเทพฯ ต่อ กับกลับบ้าน หรือเชียงใหม่ เราเลือกเชียงใหม่เพราะว่าบรรยากาศมัน International มาก มันมีความหลากหลายที่น่าสนใจที่ให้เราไปหาได้อีก จุดเริ่มต้นของการตัดสินใจที่จะอยู่เชียงใหม่ก็คือเรื่องนี้ เรื่องที่เราเห็นโอกาสในการที่เราจะกล้าทำงานในหลายๆ องค์ประกอบไม่ว่าเราจะทำอะไรก็แล้วแต่เรารู้สึกว่าการอยู่เชียงใหม่มากขึ้นแล้วก็ใช้ชีวิตง่ายกว่า ไม่รู้ตอบคำถามไหม แต่ว่านั้นคือเหตุผล

“ยกตัวอย่างเช่น เราเจอเพื่อนที่เป็นคนจีนที่เป็นเควียร์ ซึ่งเขาก็เล่าให้เราฟังว่าเมื่อก่อนสถานการณ์ความเท่าเทียมทางเพศในจีนมันมีปัญหายังไง เมื่อก่อนมันเคยพูดได้มากกว่านี้ มันเหมือนไทยที่ทุกคนรับรู้ว่ามีปัญหา แล้วก็มีการต่อสู้กันอย่างเปิดเผย จนอยู่มาวันหนึ่งรัฐบาลก็บอกว่าสิ่งนี้พูดไม่ได้อีกต่อไป ซึ่งมันก็ทำให้เขาไม่เข้าใจว่าสิ่งที่มันเหมือนจะกำลังจะชนะ ทำไมเราต้องกลับมาที่ศูนย์อีกแล้ว กลับมาเริ่มใหม่กับมัน แล้วก็คนเจนใหม่ๆ ก็ต้องมาเริ่มสิ่งใหม่ๆ ที่มากขึ้น มันทำให้เรารู้สึกถึงเรื่องกฎหมายสำคัญของประเทศนี้ที่ในช่วงปีประท้วงใหญ่เราเหมือนจะชนะแล้ว แต่อยู่ๆ เขาก็ใช้อำนาจเขาในการทำให้กฎหมายมันแข็งแรงขึ้น แล้วก็กดเราให้กลับไปอยู่จุดเดิม สำหรับเรา เรารู้สึกแบบนั้น เราก็เลยรู้สึกว่ามันทำงานกับเราประมาณหนึ่ง” ไอซ์เล่าให้เราฟัง

ระหว่างทางไอซ์ก็หางานที่เกี่ยวข้องกับเนื้องานด้านศิลปะ แต่ก็ค้นพบว่ายังไม่มีอะไรที่ใช่และคลิกกับตัวเองขนาดนั้น และเพราะไอซ์ชอบทำงานเชิงทดลอง

“ในเมื่อไม่มีพื้นที่ให้เราได้ทำอย่างที่ต้องการ เราก็ต้องทำเอง” ไอซ์ว่า

โซนที่ 3
ตึกแถวข้างๆ วัดหม้อคำตวง

พื้นที่แห่งนี้เกิดขึ้นเพราะองค์ประกอบเดียวคือ ความอยาก

วิธีคิดของสถานที่จริงๆ คือความ “กล้า”​ ที่จะทดลองกับทุกอย่าง ในความหมายคือ งานศิลปะที่ไม่ได้กำหนดรูปแบบ ไม่ได้กำหนดวิธีการ ซึ่งมันสามารถมาจากใครก็ได้ ตั้งแต่คนที่ไม่มีประสบการณ์ในการทำงานศิลปะ นักศึกษาศิลปะ ศิลปินหน้าใหม่ หรือใครก็ได้จริงๆ ซึ่งมีงานในมือและอยากนำมันออกมาสื่อสารให้มันมีตำแหน่งแห่งที่ และมีพื้นที่ให้ผู้คนนได้เห็น

และทั้งหมดนี้ ไม่จำกัดหัวข้อ วิธีการนำเสนอ และกระบวนการใดๆ 

ส่วนชื่อ Some Space Gallery เอง ไอซ์ใช้เวลาปลุกปั้นและตกตะกอนอยู่นานเหมือนกันกว่าจะได้ชื่อนี้ แต่ที่มันกลายมาเป็นชื่อนี้ได้จริงๆ เพราะนิยามของพื้นที่แห่งนี้ มันไม่ได้ถูกแทนความหมายอย่างเจาะจงว่า ต้องการจะเป็นพื้นที่เพื่อการใดการหนึ่งเท่านั้น

“เราก็นั่งคิดชื่ออยู่หลายวัน เพราะตอนแรกมันมีนามสกุลเราชื่อชมเชย เพื่อนก็บอกว่าเท่ดีนะ เป็นคำไทย มันก็เป็นการชื่นชม มันก็เท่ดีในตอนแรก แต่สุดท้ายเพราะเราอยากให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ของใครก็ได้ ถ้ามันเป็นชมเชยมันก็จะเป็นเรามากไป เราก็เลยมีไอเดียว่า เป็นพื้นที่ใดพื้นที่นึง  เป็นพื้นที่ว่าง เลยเป็นคำว่า Some Space แล้วกัน หมายถึงพื้นที่ที่ไม่เฉพาะเจาะจง มันดูไม่เฉพาะดี แล้วก็ได้มาอีกไอเดียนึงก็คือ เราเป็นคนนอกพื้นที่ที่กำลังตามหาพื้นที่ของตัวเองเหมือนกัน เพราะฉะนั้น Some Space มันเลยมีความหมายมากสำหรับเรา เพราะว่ามันเหมือนทุกคนมีความฝันที่จะมีพื้นที่ของตัวเอง มันมีความเป็นนามธรรมแล้วก็แอบเจาะจงอยู่ในนั้นเหมือนกัน”

ในวันที่ไอซ์ยังหาความเป็นไปได้บางอย่างเพื่อทำให้พื้นที่นี้เกิดขึ้นได้ ไอซ์ได้เจอรุ่นพี่คนหนึ่งที่เธอเคารพเหมือนพี่สาวแท้ๆ ซึ่งให้ไอซ์แบ่งเช่าหนึ่งชั้นของตึกแถวที่มีอยู่เพื่อทำพื้นที่นี้

“เพราะเราเชื่อในงานศิลปะเหมือนกัน เราก็บอกเขาแค่ว่าเราจะทำอาร์ตสเปซนะ เขาก็ถามเราแค่ว่าแล้วจะทำเงินกับมันยังไง ทำยังไงให้ตัวมึงอยู่ได้ เพราะว่าเขาเป็นห่วงเรา” ไอซ์ขยายความ

โซนที่ 4
ศิลปินและชุมชนนักกิจกรรม

หลักๆ แล้ว Some Space Gallery ต้อนรับภาคประชาสังคมและนักกิจกรรมที่เข้ามาเช่าพื้นที่เพื่อแสดงงานเป็นหลัก ซึ่งมีประเด็นทั้งการเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม รวมถึงงานของนักศึกษาศิลปะในช่วงวิชาธีสิสบ้าง หรือผลงานสำหรับการจบการศึกษาบ้าง

ด้วยความที่ยังไม่มีศิลปินเข้ามาอย่างจริงจัง ไอซ์จึงเปิดรับผลงานในรูปแบบ Open Call ให้ศิลปินนำผลงานมานำเสนอ โดยศิลปินที่ได้รับการคัดเลือกจะได้จัดแสดงผลงานโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งการเปิดรับผลงานได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

“เราได้งานหลากหลายมาก ตอนทำ Open Call มีคนส่งเข้ามา 60 กว่าผลงาน เรานั่งอ่านแบบจะตายเลย (หัวเราะ) ตอนนั้นก็คือจัดงานแบบสัปดาห์เว้นสัปดาห์เลย เพราะว่าเราอยากให้หลายๆ คนเข้ามาใช้พื้นที่ งานที่เราเลือกเราก็พยายามจะเลือกให้มันเข้ากับบริบทของพื้นที่ที่ทุกคนรับรู้ว่ามันเป็น ตอนนั้นได้จัดประมาณ 4 นิทรรศการ ศิลปิน 30-40 คนในรอบ 2 เดือนนั้น ก็โหดอยู่ หลากหลายมาก” ไอซ์ว่า

ความแข็งแรงของ Some Space Gallery อีกหนึ่งอย่างที่ไอซ์มองเห็นคือ ชุมชนภาคประชาสังคมและนักกิจกรรมที่ไอซ์เป็นส่วนหนึ่งในนั้น ความแข็งแรงของพวกเขาที่ต่อให้จะทำประเด็นที่แตกต่างกัน แต่มันทำให้ไอซ์รู้สึก “มีชีวิต” ขึ้นมาอีกครั้ง

“เชียงใหม่มันมีองค์ประกอบเยอะมากทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ความเท่าเทียมทางเพศ เราสัมผัสถึงความตั้งใจของเขาในทุกๆคนที่อยู่ในแต่ละชุมชน มันมีพลังที่ทำให้เรารู้สึกมีชีวิต เราชอบเห็นคนที่ทำอะไรด้วยแพสชั่น แล้วเราอยู่ด้วยแล้วมันทำให้เราคิดบวก ถึงแม้ว่ามันจะมาจากความเจ็บปวด หรือปมในใจก็ตาม แต่ว่าในมุมที่เขาแสดงออก มันทำให้เรารู้สึกว่านี่มันเป็นการต่อสู้ที่เขามีเหตุผลของเขา หรือว่าเรื่องที่เขาตั้งใจที่จะทำ มันทำให้เรารู้สึกเรามีชีวิต มันทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตเรามีความหมายมากขึ้นจากที่เราเคยเป็น”

โซนที่ 5
โซนต่อไป

Some Space Gallery เดินทางมาถึงขวบปีที่สองแล้ว

ขวบปีแรกมีความเปลี่ยนแปลง มีการเติบโต และมีพัฒนาการทั้งในบริบทของพื้นที่ มันถูกพูดถึงเป็นวงกว้างมากขึ้นทั้งในฟังก์ชั่นของการเป็นพื้นที่อิสระ รวมถึงระดับการรับรู้ที่มากขึ้นในสิ่งที่ไอซ์ทำ และในเนื้อตัวของไอซ์เองก็เติบโตขึ้นจากการลงมือก่อร่างสร้างพื้นที่นี้ด้วยตัวเอง

“ถ้ามองตั้งแต่ Exhibition แรกจนถึงปัจจุบัน เราก็รู้สึกว่าการรับรู้ที่คนให้ความหมายกับพื้นที่มันเยอะขึ้น เพราะว่าช่วงครึ่งปีแรกของการทำนิทรรศการ เราต้องเชิญทุกคนแบบส่วนตัวเพื่อที่จะให้มา แต่ในช่วงหลังๆ เราเริ่มไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้นแล้ว เริ่มเห็นว่าเรามีกลุ่มคนที่เขาสนใจที่จะมาหาเราเยอะขึ้นแค่ไหน แล้วคอยถามเราว่ามีนิทรรศการไหมวีคนี้ มันมี Engagement ที่ติดตามมากขึ้น เราก็เลยมองว่ามันสำเร็จในเชิงการรับรู้ของชุมชนและคนที่สนใจในงาน

“ถ้าเรามองเองว่าประสบความสำเร็จแค่ไหน มันประสบความสำเร็จมากๆ เลย รู้สึกว่าไม่เสียดายเลยที่ทำ คือมันเครียดแหละ แต่ว่ามันเป็นความเครียดที่เรารู้สึกว่า ถ้าเราไม่ทำอันนี้ เรามองไม่ออกเลยว่าตอนนี้เราจะเป็นยังไงเลย (เน้นเสียง) ถ้าเราเลิกทำมันขึ้นมา เรามองไม่ออกว่าเราจะรู้สึกยังไงกับตัวเอง เพราะว่าตอนนี้เราเหมือนมีเป้าหมายในใจบางอย่างที่เราทำเสร็จแล้วครึ่งนึงเพราะเราเริ่มทำไปแล้วไง ตั้งแต่ทำที่นี่มันทำให้เรารู้สึกอยากมีชีวิต รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามากขึ้นกับตัวเราเอง เคยพูดกับเพื่อนเหมือนกันว่าตายพรุ่งนี้ไม่เสียดายแล้ว เพราะว่าสิ่งที่ฝันว่าอยากทำ กูทำแล้ว สำเร็จไม่สำเร็จไม่รู้แต่ว่าเต็มที่มาก” ไอซ์ถอดบทเรียนกับเรา

สุดท้ายแล้ว เราชวนไอซ์แชร์ในประเด็นการใช้ศิลปะเพื่อพูดถึงประเด็นทางสังคม ซึ่งถึงแม้ไอซ์จะทำหน้าที่ “เปิดพื้นที่” เป็นหลัก แต่ถ้าไม่มีพื้นที่สำหรับสื่อสารอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ข้อความและสารเหล่านั้นจะไปไม่ถึงกลุ่มเป้าหมายเลย

เราเลยถามคำถามสุดท้ายกับไอซ์ว่า สิ่งเหล่านี้มันเป็นเรื่องเดียวกันได้ยังไง

“ให้เราเปรียบเทียบว่าเราอ่านบทความ อ่านข้อมูล กับการดูภาพจิตรกรรม หรือดูวีดีโอที่มันมีการลำดับเรื่องราว มันมี Impact ที่ต่างกันอยู่แล้ว เราชอบอะไรที่เขาแทรกอะไรบางอย่างที่มันอยู่ในตัวงานแล้วมันเห็นไปพร้อมๆ กันทั้งหมดโดยที่มันไม่ต้องมานั่งอ่านเรื่องราว พอเราเห็นตรงนี้ปุ๊บมันจะทำให้เราอยากกลับไปอ่านรายละเอียดของมันอีกรอบนึง มันอิมแพคทางความรู้สึก สายตา รับรู้ เสียง หรือการสัมผัส เรามองว่าศิลปะเป็นตัวกลางในการจุดไฟ ในการรับรู้เรื่องราวที่มันเกิดขึ้น แล้วหลังจากนั้นคนที่เขารับสารไป ถ้าเขาสนใจกับมัน มันจะติดอยู่ในใจเขา แล้วมันจะทำให้เขาค่อยๆ เริ่มเรียนรู้กับมันไปทีละนิดละหน่อย  เราก็เลยมองว่าศิลปะมันสำคัญกับการเคลื่อนไหวในหลายๆ ครั้ง เพราะว่ามันสื่อสารได้ค่อนข้างกว้างมากๆ ทางความรู้สึกก่อน พอคนรู้สึกแล้วข้อมูลมันจะตามมาทีหลัง” ไอซ์สรุป

ติดตามความเคลื่อนไหว นิทรรศการ โครงการใหม่ๆ และรายละเอียดในการใช้พื้นที่ได้ที่ช่องทางโซเชียลของ Some Space Gallery
ภาพประกอบ: Some Space Gallery และเพื่อนไร้พรมแดน

Contributors

อาร์ตี้ แสงสุวรรณ์

ไทยแลนด์เวรี่กู้ด ไทยตุ๊ดเวรี่เวลล์