เพื่อนข้างบ้าน: อัพเดทสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมาประจำสัปดาห์ [9 เมษายน 68]

รัฐบาลทหารเมียนมาเข้ม องค์กรช่วยเหลือต้องขออนุญาตก่อนเข้าเขตแผ่นดินไหว เสียชีวิตพุ่งกว่า 3,500 ราย

กลุ่มองค์กรช่วยเหลือต่างชาติที่ต้องการให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหวในเมียนมาต้องขออนุญาตล่วงหน้าจากทางการทหารก่อน ตามคำกล่าวของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพ ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวเพิ่มขึ้นเกิน 3,500 รายแล้ว

แผ่นดินไหวขนาด 7.7 ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ระหว่างเมืองซะกายและมัณฑะเลย์ ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากในเขตเนปีดอว์ พะโค มะกวย รวมถึงรัฐฉาน ขาดแคลนอาหาร น้ำสะอาด และที่พักพิง ประชาชนและกลุ่มสิทธิมนุษยชนสากลกล่าวหาว่ารัฐบาลทหารซึ่งยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2021 ขัดขวางการเข้าถึงของหน่วยบรรเทาทุกข์ และซ้ำเติมสถานการณ์ด้วยการโจมตีทางอากาศทั่วประเทศ

“ทีมบรรเทาทุกข์ไม่ได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติภารกิจโดยอิสระ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรใดก็ตาม” พลเอกโซวิน รองนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลทหาร กล่าวผ่านคำปราศรัยที่เผยแพร่โดยสำนักงานผู้บัญชาการทหารสูงสุด ต้องเป็นองค์กรที่ได้รับอนุญาตล่วงหน้าเท่านั้น และจะมีการดำเนินนโยบายให้ความร่วมมือเฉพาะกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง” เขากล่าวเสริมว่า นโยบายดังกล่าวมีความจำเป็น เพราะบางองค์กรอาจแสวงหาประโยชน์จากเหตุแผ่นดินไหวเพื่อจุดประสงค์เชิงลบ

รัฐบาลทหารรายงานเมื่อค่ำวันอาทิตย์ว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3,514 ราย บาดเจ็บ 4,809 ราย และยังสูญหายอีก 210 คน

เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือเผยว่า ทหารรัฐบาลได้ตั้งจุดตรวจเข้มงวดบริเวณเมืองซะกายในภาคกลางของเมียนมา ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนเสียชีวิต

“ถ้ารัฐบาลทหารยังควบคุมแบบนี้ คนก็จะตายแน่นอน” หนึ่งในเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือกล่าว พร้อมระบุว่าหากองค์กรระหว่างประเทศรวมถึงสหประชาชาติจะเข้ามาช่วยเหลือ ต้องได้รับอนุญาตโดยเร็วในนามของมนุษยธรรม ประชาชนในเขตมะกวย สะกาย มัณฑะเลย์ และรัฐฉาน ยังคงรายงานว่าถูกโจมตีด้วยอาวุธหนัก แม้มีข้อตกลงหยุดยิงระหว่างรัฐบาลทหารกับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ โดยมีผู้เสียชีวิต 7 ราย และบาดเจ็บอีก 7 ราย

ตั้งแต่วันที่ 2 ถึง 7 เมษายน กองทัพยังคงโจมตีพื้นที่รัฐยะไข่ พะโค และอิระวดี ทั้งทางบก ทะเล และอากาศ ตามคำแถลงของกองทัพอาระกัน หรือ AA กองกำลังยึดครอง 14 จาก 17 อำเภอในรัฐยะไข่ และได้ขยายการโจมตีไปยังรัฐชินและเขตอิระวดี แต่ยังไม่สามารถยึดเมืองหลวงสิทธเว หรืออำเภอเจาก์พยู ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนของจีนหนาแน่น

ในเจาก์พยูเมื่อวันที่ 2 เมษายน กองทัพทิ้งระเบิดควบคุมด้วยโดรนใกล้หมู่บ้านชายแดนอำเภอเปาก์ตอว์เกือบ 90 ครั้ง และยิงด้วยอาวุธหนักอีกประมาณ 60 ครั้ง ตามคำแถลงของ AA ในวันถัดมา กองทัพยังโจมตีหมู่บ้านต่าง ๆ ในอำเภอเปาก์ตอว์ด้วยเครื่องบินรบและเรือหลายสิบครั้ง และในวันเสาร์ได้ทิ้งระเบิดในอำเภอสิทธเว โดยมีรายงานความเสียหายแต่ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติม

รัฐบาลทหารกล่าวหาว่ากลุ่มกบฏอย่าง AA เป็นฝ่ายละเมิดข้อตกลงหยุดยิงก่อน

“AA ส่งทหารเข้ามาในพื้นที่ใกล้เขตอิระวดีและเริ่มยิงก่อน” พลโทจ่อมินตุน โฆษกรัฐบาลทหารกล่าวผ่านรายการโทรทัศน์ของรัฐ เขาเสริมว่าทางการเคยประกาศไว้แล้วว่าจะตอบโต้หากถูกโจมตีก่อน แต่ไม่ได้ระบุจำนวนผู้เสียชีวิตหรือความเสียหายในสิทธเว เจาก์พยู หรือเปาก์ตอว์

AA และกลุ่มพันธมิตรระบุว่าจะยังคงเคารพข้อตกลงหยุดยิงเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว แต่ในขณะเดียวกันก็ยืนยันว่าได้เข้ายึดฐานทัพยุทธศาสตร์ในหมู่บ้านเนียงจเว เขตพะโคตะวันตก เมื่อวันที่ 2 เมษายน

ภาพและอ้างอิง: Radio Free Asia

ผู้ลี้ภัยจากพาเลตวาในหมู่บ้านทวีดันเผชิญวิกฤตขาดแคลนอาหาร วอนขอความช่วยเหลือด่วนช่วงเมษายนถึงมิถุนายน

เจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือเปิดเผยว่า ผู้ลี้ภัยจากเมืองพาเลตวาที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านทวีดัน เขตหลวงไต รัฐมิโซรัม กำลังเผชิญภาวะขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง โดยเฉพาะข้าวสาร และต้องการความช่วยเหลือโดยเร่งด่วน ในหมู่บ้านทวีดัน ชาวบ้านท้องถิ่นไม่อนุญาตให้ผู้ลี้ภัยเปิดร้านค้าหรือขายสินค้าในตลาด ประกอบกับเป็นช่วงฤดูร้อนที่ไม่มีงานรับจ้าง ทำให้หลายคนขาดรายได้และประสบปัญหาในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน ตามรายงานของ ซาไล เมาเซก ผู้ทำงานด้านผู้ลี้ภัย

“เราไม่มีเงินเพราะไม่มีงาน ไม่มีสิทธิ์เปิดร้านขายของ ถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไป เราอาจไม่มีอาหารพอในเดือนหน้า ผู้นำของเราจึงจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือ” ซาไล เมาเซก กล่าว

เขาระบุว่าผู้ช่วยเหลือได้ยื่นขอความช่วยเหลือฉุกเฉินไปยังองค์กรชินต่าง ๆ รวมถึงองค์การสิทธิมนุษยชนชิน (CHRO) และกลุ่มอื่น ๆ ที่สามารถติดต่อได้ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับหรือการสนับสนุนใด ๆ ซาไล เมาเซกกล่าวอีกว่า เนื่องจากฤดูฝนใกล้เข้ามา งานขนส่งสินค้าน่าจะกลับมาอีกครั้ง และผลผลิตจากการเกษตรในพื้นที่สูงจะเริ่มเก็บเกี่ยวในเดือนสิงหาคม ดังนั้นช่วงวิกฤตคือระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายน

“ถ้าได้รับความช่วยเหลือตอนนี้ สิ่งที่ต้องการที่สุดคือข้าวสาร แต่ข้าวจะอยู่ได้แค่ 3 เดือนเท่านั้น หลังจากเดือนกรกฎาคม งานขนส่งจะกลับมา และในเดือนสิงหาคมจะเริ่มเก็บเกี่ยวพืชผลบนเขา ซึ่งน่าจะช่วยผ่อนคลายสถานการณ์ได้ แต่ช่วงเมษายนถึงมิถุนายนจะลำบากมาก” เขากล่าว

ปัจจุบันในหมู่บ้านทวีดันมีผู้ลี้ภัยจากเมืองพาเลตวากว่า 270 ครัวเรือน รวมประชากรกว่า 1,000 คน โดยมีมากกว่า 100 ครัวเรือนที่ต้องการความช่วยเหลือด้านอาหารอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะครูที่ทำงานในโรงเรียนผู้ลี้ภัย และผู้ที่ไม่มีการสนับสนุนจากต่างประเทศ

ราคาข้าวสารขนาด 25 กิโลกรัมเกรดกลาง ซึ่งในตัวเมืองหลวงไตขายอยู่ที่ 1,250 รูปี แต่ในหมู่บ้านทวีดันกลับมีราคาสูงถึง 1,500 รูปี (ประมาณ 75,000 จ๊าดเมียนมา)

ผู้ลี้ภัยจากพาเลตวาที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านทวีดันประกอบอาชีพรับจ้างขนของ แรงงานรายวัน ค้าขาย และทำเกษตรบนพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตจากชาวบ้าน เพื่อเลี้ยงชีพ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทางการหมู่บ้านได้ย้ายผู้ลี้ภัยไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากตัวหมู่บ้าน ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสร้างที่พักใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพิงพักชั่วคราว

นอกจากนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางการหมู่บ้านและชาวบ้านท้องถิ่นยังสั่งห้ามไม่ให้ผู้ลี้ภัยค้าขายในพื้นที่อีกด้วย

หมู่บ้านทวีดันตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองหลวงไตมากกว่า 100 ไมล์ และต้องใช้เวลานั่งรถโดยสารมากกว่า 3 ชั่วโมงในการเดินทางไปถึง

อ้างอิง: Myanmar Peace Monitor

กองกำลัง ZRA-EC เปิดฉากบุกยึดเมืองตองซัง ขณะรัฐบาลอินเดียเดินหน้าส่งความช่วยเหลือผู้ประสบแผ่นดินไหวในเมียนมา

ในขณะที่รัฐบาลอินเดียกำลังอำนวยความสะดวกในการส่งความช่วยเหลือผ่านรัฐชินไปยังผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในเมียนมา กองกำลังปฏิวัติชาวโซมิ ฝ่ายตะวันออก (ZRA-EC) ได้เปิดฉากโจมตีเมืองตองซังอย่างฉับพลันเมื่อช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 3 เมษายน นำไปสู่การสู้รบอย่างหนักใน 4 พื้นที่ภายในเมือง

เมืองตองซัง ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังร่วมรัฐบาลชินแลนด์ และเป็นพื้นที่ที่มีการบริหารจัดการโดยฝ่ายพลเรือน กำลังเผชิญกับการรุกคืบของ ZRA-EC ซึ่งระดมกำลังพลจำนวนมากเข้ามาจากเมืองซิกฮา ผ่านรัฐมณีปุระของอินเดีย ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านในพื้นที่

ซาไล เท็ต นี โฆษกของกองกำลังร่วมรัฐบาลชินแลนด์ กล่าวว่า “การสู้รบยังคงดุเดือด พวกเขาพยายามยึดเมืองตองซังกลับมา เพราะฉวยโอกาสจากการที่เราหยุดยิงชั่วคราวกับกองทัพเผด็จการเนื่องจากเหตุแผ่นดินไหว แต่พวกเขากลับใช้จังหวะนี้ในการโจมตีเรา”

เขาระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน ZRA-EC ได้ใช้โดรนที่ได้รับจากกองทัพเผด็จการในการโจมตีเมืองตองซัง โดยฝ่ายรัฐบาลชินสามารถยิงตกโดรนได้ 3 ลำ และมีรายงานว่า ZRA-EC ยังใช้อาวุธและกระสุนที่ได้รับจากกองทัพเผด็จการอีกด้วย

“เรายอมให้รัฐบาลอินเดียเข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยไม่ลังเล และยังออกแถลงการณ์รับรองว่าจะไม่มีการสู้รบใด ๆ แต่ฝ่ายตรงข้ามกลับมองว่าเราพร้อมรบน้อยลง จึงฉวยโอกาสโจมตีฝ่ายเดียว” ซาไล เท็ต นี กล่าว

ขณะนี้ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากฝ่ายรัฐบาลชิน และยังไม่ทราบจำนวนความสูญเสียของ ZRA-EC แหล่งข่าวยืนยันว่า ZRA-EC ซึ่งมีฐานในรัฐมณีปุระ ได้เปิดปฏิบัติการขนาดใหญ่ในครั้งนี้เพื่อยึดครองเมืองตองซังให้ได้

การโจมตีครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลอินเดียกำลังประสานงานอย่างราบรื่นกับรัฐบาลชินแลนด์ เพื่อใช้เส้นทางการค้าระหว่างอินเดีย-เมียนมาผ่านรัฐชิน ในการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในเมียนมา

ซาไล เท็ต นี ประณามการโจมตีครั้งนี้ว่า “ในขณะที่ประชาชนกำลังลำบาก เสียชีวิต และสูญเสียบ้านเรือนจากภัยพิบัติ ฝ่ายหนึ่งกำลังช่วยเหลือ แต่กลับมีอีกฝ่ายใช้ความรุนแรงแบบไม่ใส่ใจความเดือดร้อนของผู้คน นี่คือการก่อการร้าย และเราจะทำทุกทางเพื่อป้องกันตนเอง”

กองพันที่ 4 ของกองทัพแห่งชาติชิน (CNA) ยังประกาศเมื่อวันที่ 3 เมษายนว่า จะตอบโต้การโจมตีของ ZRA ซึ่งเป็นพันธมิตรของกองทัพเผด็จการ ในฐานะการป้องกันตัว ก่อนหน้านี้กองกำลังของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG), องค์กรอิสรภาพคะฉิ่น (KIO) และพันธมิตรสามพี่น้อง (3BHA) ได้ประกาศหยุดยิงชั่วคราวเนื่องจากสถานการณ์แผ่นดินไหว

แม้กองทัพเผด็จการจะประกาศหยุดยิงเช่นกัน แต่ยังคงดำเนินการโจมตีทางอากาศและภาคพื้นดินในบางพื้นที่ต่อไป

อ้างอิง: Myanmar Peace Monitor

รัฐบาลทหารพม่าสั่งเก็บข้อมูลส่วนตัวเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์แผ่นดินไหว ซ้ำบีบขออนุญาตเดินทาง-แจงยอดเงินบริจาค

กระทรวงมหาดไทยภายใต้รัฐบาลทหารเมียนมาสั่งการให้สำนักสอบสวนพิเศษบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครที่เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในเขตสะกาย แหล่งข่าวใกล้ชิดกระทรวงฯ เปิดเผยกับสื่อ DVB โดยไม่ประสงค์ออกนาม มาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมกับการลงพื้นที่ของ มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหาร ไปยังเขตสะกาย ศูนย์กลางของเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

“เจ้าหน้าที่ข่าวกรองจะเก็บข้อมูลว่าอาสาสมัครมาจากไหน ไปที่ไหน บริจาคอะไร และบริจาคในนามส่วนตัวหรือองค์กร” แหล่งข่าวกล่าว

เขตสะกายตั้งอยู่ห่างจากเมืองหลวงของภูมิภาค มอนยวา 109 กิโลเมตร ไปทางตะวันออก และห่างจากมัณฑะเลย์ 22 กิโลเมตรไปทางตะวันตก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งใน 6 พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักจากแผ่นดินไหว

เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์บางรายระบุว่า ไม่ได้รับความช่วยเหลือใด ๆ จากทางรัฐบาลทหาร
“เราต้องแจ้งรายชื่อบุคลากรและอุปกรณ์ที่นำมาเมื่อเดินทางถึง พวกเขาเป็นผู้ตัดสินว่าเราจะไปที่ไหนได้บ้าง” โฆษกของกลุ่มบรรเทาทุกข์ในเขตสะกายและมัณฑะเลย์เผยกับ DVB

พล.อ. โซ วิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวเมื่อวันเสาร์ว่า ทุกกลุ่มที่ให้ความช่วยเหลือต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ระดับภูมิภาคและร่วมมือกับพวกเขาระหว่างปฏิบัติการบรรเทาทุกข์ในภาคกลางของประเทศ

ขณะที่กลุ่มช่วยเหลือในเขตอิรวดีเปิดเผยว่า ตั้งแต่วันศุกร์ที่แล้ว พวกเขาถูกเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นสั่งให้ขออนุญาตเดินทาง แจ้งจำนวนบุคลากร และรายงานยอดเงินบริจาคที่ได้รับ แหล่งข่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองท้องถิ่นยืนยันกับ DVB ว่าเป็นไปเพื่อ “ความมั่นคง”

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าผู้นำชุมชนบางแห่งเรียกร้องขอแบ่งเงินบริจาคจากกลุ่มช่วยเหลือเพื่อนำไปใช้ใน “กิจกรรมการกุศล” ของตนเอง

ด้านรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ได้รวบรวมเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากแผ่นดินไหวผ่านธนาคารพัฒนาฤดูใบไม้ผลิ (Spring Development Bank) แล้วเกือบ 1.5 พันล้านจ๊าตเมียนมา (ราว 340,000 ดอลลาร์สหรัฐ)

อะมีเลีย โลแกน โฆษกแคมเปญระดมทุน Spring Crowdfund กล่าวกับ DVB ว่าการระดมทุนครั้งนี้จะสิ้นสุดในวันที่ 11 เมษายน และเงินทั้งหมดจะถูกส่งต่อให้กระทรวงมนุษยธรรมและบรรเทาสาธารณภัยของ NUG

ด้านมิน อ่อง หล่าย ให้คำมั่นว่าจะมอบเงิน 1 ล้านจ๊าต (ประมาณ 220 ดอลลาร์สหรัฐ) ให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหว ขณะที่ DVB รายงานว่าประเทศได้รับเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศแล้วเกือบ 137 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันอาทิตย์

NUG รายงานเมื่อวันเสาร์ว่า แผ่นดินไหวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 47 ราย บาดเจ็บ 55 ราย และประชาชนกว่า 25,000 คนใน 49 หมู่บ้านในเขตสะกายที่อยู่ภายใต้การควบคุมของตนได้รับผลกระทบ เมืองคัมปัต เมาลู ปินเลบู และชเวปิแอ ตกอยู่ภายใต้การดูแลของ NUG โดยมีหน่วยป้องกันประชาชน (PDF) เป็นฝ่ายดูแลความปลอดภัย

NUG ยังได้ประกาศหยุดการปฏิบัติการทางทหารของ PDF ชั่วคราวเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม เพื่อเปิดทางให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เข้าถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในเขตสะกาย โดยเว้นไว้เฉพาะกรณีป้องกันตัวเท่านั้น

ด้าน DVB เปิดเผยตัวเลขผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคมว่าอยู่ที่ 4,316 ราย โดยพบศพในเขตสะกาย 696 ราย และมัณฑะเลย์ 2,759 ราย ขณะที่ทางการทหารระบุยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 3,514 ราย และพบศพในเขตสะกายเพียง 561 ราย ณ วันที่ 6 เมษายน

อ้างอิง: DVB English
ภาพ: CINCDS

ลมแรง-ฝนถล่มมัณฑะเลย์กลางดึก พัดเต็นท์ผู้ประสบภัยพังยับ หลายร้อยชีวิตไร้ที่หลบภัยซ้ำสอง

กลางดึกคืนที่ผ่านมา เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ต้องเผชิญกับลมกระโชกแรงและฝนตกหนัก ส่งผลให้เต็นท์ที่พักชั่วคราวจำนวนมากที่ถูกสร้างขึ้นอย่างเร่งรีบบนท้องถนนเพื่อรองรับผู้รอดชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ พังถล่มลงมาอย่างรุนแรง ประชาชนจำนวนมากที่เพิ่งรอดชีวิตจากภัยพิบัติ กลับต้องมาเผชิญความยากลำบากซ้ำอีกครั้ง เมื่อที่พักชั่วคราวซึ่งเป็นเพียงผ้าใบและเสาไม้ไม่อาจต้านทานแรงลมและฝนได้ พวกเขาต้องใช้เวลาทั้งคืนท่ามกลางสายฝน โดยไร้สิ่งปกคลุมและไร้ที่หลบภัยที่ปลอดภัย

อาสาสมัครในพื้นที่กำลังทำงานอย่างไม่หยุดยั้งเพื่ออพยพผู้ประสบภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัยกว่า แต่ด้วยจำนวนผู้ประสบภัยที่มีมาก และทรัพยากรที่จำกัด ความช่วยเหลือจึงยังไม่สามารถเข้าถึงทุกครอบครัวได้ทัน

“หลายครอบครัวไม่มีแม้กระทั่งผ้าห่มหรือเสื้อผ้าแห้ง พวกเขาหนาวสั่นและต้องอยู่กลางฝนตลอดทั้งคืน” อาสาสมัครรายหนึ่งกล่าว

สถานการณ์ในมัณฑะเลย์ยิ่งเลวร้ายลงจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้ความต้องการความช่วยเหลือด้านที่พัก อาหาร น้ำดื่ม และอุปกรณ์กันฝน มีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากแผ่นดินไหวก่อนหน้านี้

องค์กรบรรเทาทุกข์ในประเทศเมียนมาและนานาชาติถูกเรียกร้องให้เร่งส่งความช่วยเหลือ เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียเพิ่มขึ้นในกลุ่มประชาชนที่กำลังเปราะบางที่สุด

ทั้งนี้ เหตุแผ่นดินไหวเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักในภูมิภาคมัณฑะเลย์และสะกาย ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน และอีกนับหมื่นคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย ชีวิตหลังเหตุการณ์ยังคงเปราะบางอย่างยิ่ง และภัยธรรมชาติซ้ำซ้อนครั้งนี้ ได้ย้ำเตือนถึงความจำเป็นของระบบบรรเทาทุกข์ที่แข็งแกร่งและความร่วมมือในระดับมนุษยธรรม

อ้างอิง: Chindwin News Agency

นักศึกษาธรรมศาสตร์ถือป้ายต่อต้านผู้นำรัฐประหารเมียนมา ถูกควบคุมตัวก่อนปล่อยตัวโดยไม่ตั้งข้อหา

นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนหนึ่งถูกควบคุมตัว ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีการตั้งข้อหา หลังจากจัดม็อบเดี่ยวประท้วงการเข้าร่วมประชุมของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ในการประชุมสุดยอดความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลเพื่อความร่วมมือหลากหลายสาขา (BIMSTEC) ครั้งที่ 6 ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันศุกร์ที่ 5 เมษายน “ปอม” (นามสมมุติ) นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ยกป้ายประท้วงบริเวณโรงแรมแชงกรีลา เขตบางรัก ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุม BIMSTEC

ขณะถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยนำตัวออกจากพื้นที่ เขาได้ตะโกนว่า “ประเทศไทยไม่ต้อนรับเผด็จการฆาตกร มิน อ่อง หล่าย การประชุมครั้งนี้เปื้อนเลือดของประชาชนบริสุทธิ์กว่า 6,000 คน นายกรัฐมนตรีแพทองธารรู้สึกอย่างไรกับการจับมือกับเผด็จการที่มือเปื้อนเลือด? ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนควรละอายใจ ที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยแต่กลับร่วมโต๊ะกับเผด็จการที่เข่นฆ่าประชาชน ประเทศไทยควรยืนอยู่ข้างประชาชนเมียนมา คนไทยไม่ยอมรับเผด็จการฆาตกรคนนี้”

หลังจากนั้น นักศึกษารายนี้ถูกตำรวจควบคุมตัวไปยังสถานีตำรวจยานนาวา ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกันโดยไม่มีการตั้งข้อหาใด ๆ

ตามข้อมูลจากทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ปอมถูกนำตัวไปสอบสวน เนื่องจากพื้นที่ที่เขาจัดกิจกรรมประท้วงเป็นเขตที่ต้องขออนุญาตล่วงหน้า ซึ่งเขาไม่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการ

แม้ในวันเกิดเหตุจะยังไม่มีการตั้งข้อหา แต่ทนายความระบุว่า มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการดำเนินคดีภายหลัง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังรวบรวมหลักฐาน ซึ่งอาจถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการกดดันไม่ให้เขาทำกิจกรรมในลักษณะเดียวกันอีกในอนาคต

อ้างอิง: Prachathai English
ภาพ: ไข่แมวชีส