เพื่อนข้างบ้าน: อัพเดทสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมาประจำสัปดาห์ [28 พฤษภาคม 68]

โรงงานเสื้อผ้า GTIG Guohua Glory ขู่ตัดค่าแรงพนักงานประท้วงใน Shwepyithar หากไม่ยอมกลับเข้าทำงาน

โรงงานเสื้อผ้า GTIG Guohua Glory ภายในเขตอุตสาหกรรม Wataya ของเมือง Shwepyithar ได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังพนักงานว่า โรงงานจะดำเนินการตัดค่าแรของพนักงานที่เข้าร่วมการประท้วง เรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงและจ่ายค่าล่วงเวลา หากพวกเขาไม่ยอมกลับเข้าทำงาน

ทางโรงงานได้ตกลงจ่ายค่าแรงรายวันจำนวน 10,500 จ๊าตเมียนมา (ประมาณ 2.30 ดอลลาร์สหรัฐ) แต่พนักงานได้จัดการประท้วงเรียกร้องให้เพิ่มเป็น 13,000 จ๊าต (ประมาณ 2.90 ดอลลาร์สหรัฐ)

“ตัวแทนของโรงงานได้มาเยี่ยมพวกเราและบังคับให้พนักงานกลับเข้าทำงาน โดยระบุว่าค่าแรงจะถูกตัดตามกฎหมาย เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม” โฆษกของ Solidarity Trade Union of Myanmar (STUM) ให้สัมภาษณ์กับ DVB โดยขอไม่เปิดเผยชื่อ

ในเดือนนี้ พนักงานจากโรงงานอย่างน้อย 5 แห่งใน Yangon ได้ออกมาเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรง

พนักงานของโรงงาน GTIG Guohua Glory ได้หยุดงานเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม เพื่อเรียกร้องค่าแรงรายวันที่เพิ่มขึ้นอีก 2,500 จ๊าต (ประมาณ 0.5 ดอลลาร์สหรัฐ) ค่าล่วงเวลา 3,000 จ๊าต (ประมาณ 0.6 ดอลลาร์สหรัฐ) และค่าชดเชยสำหรับสภาพอากาศร้อนจัดจำนวน 60,000 จ๊าต (ประมาณ 13.6 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเดือน

โรงงานแห่งนี้มีพนักงานกว่า 1,000 คน และผลิตเสื้อผ้าให้กับแบรนด์ ONLY, Bestsellers และ United Colors of Benetton

อ้างอิง: DVB English

Arakan Army สั่งห้ามชาย-หญิงวัยรับใช้ทหารออกจากรัฐ Arakan อ้างเหตุฉุกเฉินจากสงคราม

Arakan Army (AA) ได้ออกคำสั่งเมื่อวันพฤหัสบดี ห้ามชายอายุระหว่าง 18 ถึง 45 ปี และหญิงอายุระหว่าง 18 ถึง 25 ปี ซึ่งอยู่ในเกณฑ์เข้ารับราชการทหาร ออกจากรัฐ Arakan จนกว่าสถานการณ์ฉุกเฉินจากความขัดแย้งจะสิ้นสุด โดยกลุ่มอายุนี้จะต้องเข้ารับราชการทหารกับ AA เป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี

“การบังคับผู้ที่ไม่เต็มใจให้เข้ารับการฝึกทหาร เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล การละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่จำกัดแค่การทรมานหรือการสังหารเท่านั้น การจำกัดเสรีภาพเช่นนี้ก็ถือเป็นการละเมิด” นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนจากรัฐ Arakan ให้สัมภาษณ์กับ DVB โดยขอไม่เปิดเผยชื่อ

AA ระบุว่าการจำกัดการเดินทางนี้เป็นมาตรการป้องกัน เนื่องจากผู้คนในกลุ่มอายุเกณฑ์อาจถูกทหารรัฐบาลจับกุม กรรโชก ใช้ความรุนแรง หรือเกณฑ์บังคับเข้าร่วมกองทัพ โดยอ้างอิงถึง “บทบัญญัติฉุกเฉินด้านการป้องกันประเทศ” ฉบับใหม่ของ AA ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 18 มีนาคม

“หากจะออกนโยบายเช่นนี้ หน่วยงานควรอธิบายให้ชัดเจนและเป็นระบบ ไม่เช่นนั้นอาจนำไปสู่การเกณฑ์บังคับโดยสมาชิกในพื้นที่” Han ชาวรัฐ Arakan กล่าว

AA ยังอ้างว่ามีอันตรายจากกับระเบิดที่ทหารรัฐบาลทิ้งไว้ เป็นอีกเหตุผลหนึ่งในการจำกัดการเคลื่อนไหวเข้าออกจากรัฐ Arakan โดยในปัจจุบัน รัฐบาลทหารได้ปิดเส้นทางการคมนาคมทั้งทางบกและทางทะเลเข้าสู่รัฐทางตะวันตกสุดของเมียนมา รายงานการเกณฑ์บังคับโดย AA เริ่มปรากฏตั้งแต่เดือนมีนาคมในพื้นที่ที่กลุ่มควบคุมอยู่ ขณะนี้มีการห้ามขนย้ายผู้ที่อยู่ในเกณฑ์รับราชการทหารออกจากพื้นที่ ยกเว้นกรณีฉุกเฉินด้านสุขภาพที่ไม่สามารถรักษาในสถานพยาบาลของ AA ได้

“การเกณฑ์ทหารบังคับไม่ว่าโดยกองทัพเมียนมาหรือกลุ่มติดอาวุธใดก็ถือว่าผิดทั้งสิ้น เห็นได้ชัดว่า AA ต้องการแรงงานสำหรับทั้งงานปกครอง งานรักษาความสงบ และการรบในอนาคต” David Mathieson นักวิเคราะห์อิสระด้านความขัดแย้งในเมียนมาให้สัมภาษณ์กับ DVB

เขาเสริมว่า “น่าเศร้าที่เรื่องนี้เป็นเพียงอีกตัวอย่างหนึ่งของเมียนมาที่กำลังจมอยู่ในวงจรความรุนแรงไม่รู้จบ”

ผู้วิจารณ์นโยบายของ AA ระบุว่า กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ควรชี้แจงคำสั่งให้ละเอียด เช่น วิธีการบังคับใช้ มาตรการลงโทษ และระยะเวลาของคำสั่ง รวมถึงเงื่อนไขที่สามารถยกเลิกคำสั่งได้ นับตั้งแต่รัฐประหารในปี 2021 มีรายงานการเกณฑ์ทหารโดยกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ เช่น Ta’ang National Liberation Army (TNLA), Myanmar National Democratic Alliance Army (MNDAA) และ Restoration Council of Shan State/Shan State Army (RCSS/SSA)

รัฐบาลทหารได้บังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหารเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2024 ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนานาชาติ โดย Naypyidaw ได้ประกาศกฎที่เข้มงวดขึ้นในเดือนมกราคม และห้ามชายวัยเกณฑ์ออกนอกประเทศ

Arakan Army ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2009 โดยได้รับการสนับสนุนจาก Kachin Independence Army (KIA) ในรัฐ Kachin ทางเหนือของเมียนมา แต่เริ่มดำเนินการทางทหารในรัฐ Arakan อย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2015 ในช่วงรัฐบาลพรรค National League for Democracy (NLD) ที่นำโดย Aung San Suu Kyi ระหว่างปี 2016–2021 ก่อนรัฐประหารและการจับกุมเธอพร้อมกับประธานาธิบดี Win Myint นั้น AA เคยถูกจัดให้เป็น “องค์กรก่อการร้าย”

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2023 AA เปิดฉากโจมตีทั่วทั้งรัฐ หลังพันธมิตรอย่าง TNLA และ MNDAA ประสบความสำเร็จในรัฐ Shan ทางเหนือ จากปฏิบัติการ Operation 1027 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ตามรายงานของ Human Development Forum Foundation ในเดือนเมษายน AA มีทหารมากกว่า 30,000 นาย ซึ่งเชื่อว่าจำนวนมากสมัครเข้าร่วมหลังปี 2021

AA ควบคุมพื้นที่ 14 จาก 17 เมืองในรัฐ Arakan รวมถึง Paletwa Township ในเขต Chinland ขณะที่เมืองหลวง Sittwe ท่าเรือน้ำลึก Kyaukphyu และเกาะ Manaung ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหาร

“การเกณฑ์ทหารของ AA เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เรากำลังต่อสู้เพื่อเสรีภาพของเรา คนรุ่นใหม่ควรได้รับบทบาทหน้าที่และภาวะผู้นำ ด้วยการมีส่วนร่วมของพวกเขา เราจะบรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น” นักเคลื่อนไหวใน Arakan รายหนึ่งกล่าวกับ DVB

ปัจจุบัน AA ต้องต่อสู้ในหลายแนวรบ โดยต้องเผชิญการโจมตีจากกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญา เช่น Arakan Rohingya Salvation Army (ARSA) และ Rohingya Solidarity Organization (RSO) บริเวณชายแดนเมียนมา-บังกลาเทศตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ในเดือนมกราคม AA ได้ขยายแนวรบจาก Arakan ไปยังเขต Ayeyarwady, Magway และ Bago ที่อยู่ใกล้เคียง

อ้างอิง: DVB English

ชาวเมือง Intaw เริ่มกลับเข้าพื้นที่ซ่อมแซมบ้าน หลัง KIA และ PDF ยึดคืนได้ – แม้ยังมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย

ชาวเมือง Intaw ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายแดนของภูมิภาค Sagaing และรัฐ Kachin เริ่มได้รับอนุญาตให้กลับเข้าเมืองเพื่อซ่อมแซมบ้านเรือนและอาคารที่ได้รับความเสียหาย ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านในพื้นที่

ประชาชนได้รับอนุญาตให้เข้าออกเมือง Intaw ได้มากกว่าหนึ่งเดือนหลังจากที่กองทัพ Kachin Independence Army (KIA) และกลุ่ม People’s Defense Forces (PDF) เข้ายึดเมืองร่วมกันในเดือนเมษายน ชาวบ้านระบุว่า มีการปฏิบัติการกวาดล้างทุ่นระเบิดในเมือง Intaw ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม หลังจากที่ KIA และ PDF เข้าควบคุมพื้นที่ได้สำเร็จ

ผู้พลัดถิ่นจาก Intaw รายหนึ่งกล่าวว่า “พวกเขาแค่กลับมาดูแลทรัพย์สินของตัวเอง กลับมาบ้านของตัวเอง ตอนนี้ชาวบ้านสามารถเข้าออกเมืองได้ตามต้องการ แต่คนขับรถบางรายยังไม่รู้ว่าเส้นทางในเมืองเปิดแล้ว เลยยังคงใช้ถนนเลี่ยงเมืองอยู่”

ก่อนที่ชาวเมืองจะสามารถกลับเข้าพักอาศัยได้อย่างเต็มที่ หลายคนได้เริ่มขนเฟอร์นิเจอร์ ตรวจสอบความเสียหาย และซ่อมแซมบ้านของตนแล้ว นอกจากนี้ ชาวเมือง Intaw ยังระบุว่า กองกำลังร่วม KIA และ PDF ได้เปิดเส้นทาง Mandalay–Intaw–Myitkyina ซึ่งถูกปิดมานานกว่า 9 เดือน ให้รถท่องเที่ยวผ่านได้ตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา แม้ว่าเส้นทางจะกลับมาเปิดใช้งานแล้ว แต่ผู้ประกอบการรถโดยสารและนักท่องเที่ยวยังเลือกใช้ถนนเลี่ยงเมืองเป็นหลัก เนื่องจากยังกังวลเรื่องความปลอดภัย

“ฉันไม่แน่ใจ ตอนเช้านี้เพิ่งมีการทิ้งระเบิดในเมือง ยังไม่รู้แน่ชัดว่าความเสียหายแค่ไหน” ชาวบ้านใกล้เมือง Intaw รายหนึ่งให้ข้อมูลถึงสถานการณ์เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม เมื่อสภาทหารโจมตีทางอากาศในพื้นที่

นักเดินทางบางรายแสดงความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย เนื่องจากมีชายหลายคนหายตัวไปหลังจากการเปิดเส้นทาง Intaw อีกครั้ง

อ้างอิง: Myanmar Peace Monitor

ทหารบุกแกลเลอรีศิลปะกลาง Mandalay จับศิลปิน 5 ราย เหตุจัดนิทรรศการช่วยผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวถูกกล่าวหาว่า “บ่อนทำลายเกียรติของรัฐ”

เจ้าหน้าที่ทหารบุกตรวจค้นแกลเลอรีศิลปะในเมือง Mandalay และจับกุมผู้เกี่ยวข้อง 5 คน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังนิทรรศการที่มีเป้าหมายระดมทุนช่วยผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวถูกกล่าวหาว่า “บ่อนทำลายศักดิ์ศรีของรัฐ” การบุกค้นเกิดขึ้นที่ Nanmati Art Gallery ในเขต Chanayethazan เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา หนึ่งวันก่อนหน้าที่นิทรรศการชื่อ “Phoenix Mandalay” จะเปิดแสดง

“เราได้ยินว่ามีคนถูกจับไป 5 คน แต่ยังไม่รู้แน่ชัดว่าเป็นใคร พอเห็นภาพผลงานของศิลปินที่เรารู้จักในบรรดางานศิลปะที่ถูกยึด ก็รู้สึกกังวลมาก” หญิงคนหนึ่งที่ใกล้ชิดกับสถานการณ์กล่าว

นิทรรศการครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อระดมทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ซึ่งเกิดทางตะวันตกของ Mandalay และสร้างความเสียหายอย่างหนักทั้งในเมือง Mandalay พื้นที่ใกล้เคียงในภูมิภาค Sagaing และ Naypyitaw โดยตัวเลขผู้เสียชีวิตจากทางการอยู่ที่เกือบ 4,000 ราย นิทรรศการวางแผนจัดแสดงผลงานเกือบ 200 ชิ้น และนำรายได้ 50–100% จากการขายไปใช้ในการสร้างบ้านชั่วคราวให้ผู้ประสบภัย หลังเหตุการณ์บุกค้น ทางแกลเลอรีประกาศยกเลิกนิทรรศการโดยระบุเพียงว่า “ด้วยเหตุผลหลายประการ” โดยไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

ผู้จัดงานปฏิเสธให้ข้อมูลเชิงลึก แต่ยืนยันเมื่อวันจันทร์ว่ามีบางคนถูกควบคุมตัวและยังอยู่ระหว่างการสอบสวน เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอใจอย่างมากในหมู่ศิลปินและนักสร้างสรรค์ใน Mandalay

“มันน่ารังเกียจที่จะกดขี่ศิลปะทุกรูปแบบ แม้แต่ภาพวาดที่มุ่งประโยชน์สาธารณะโดยไม่หวังผลส่วนตัว และเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกเชิงสร้างสรรค์” กวีจาก Mandalay รายหนึ่งที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อ แสดงความคิดเห็น

รายงานระบุว่าปฏิบัติการดังกล่าวดำเนินการโดยหน่วยจากกองบัญชาการทหารภาคกลาง ซึ่งมีฐานที่วัง Mandalay โดยเกิดขึ้นหลังจากช่อง Telegram ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลทหารออกมาเรียกร้องให้มีการปราบปรามกิจกรรมนี้ หนึ่งในภาพวาดที่ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลทหารระบุว่า “น่าสงสัย” มีภาพวัง Mandalay ธงชาติ เปลวเพลิง ลวดหนาม และสัญลักษณ์อื่นๆ ของการกดขี่และความหายนะ นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวอ้างจากฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลว่า รายได้จากนิทรรศการอาจถูกนำไปใช้ในกิจกรรมต่อต้านรัฐบาล

อ้างอิง: Myanmar Now

กว่า 17,000 ผู้พลัดถิ่นใน Kyaikto ยังคงไร้ที่กลับ อาหารและยารักษาโรคขาดแคลนหนัก ท่ามกลางภัยสงครามและฝนที่กำลังมา

ประชาชนผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (IDPs) จำนวน 17,602 คน ที่ลี้ภัยอยู่ในเขตตำบล Kyaikto รัฐ Mon อำเภอ Thaton ยังคงไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้ และกำลังเผชิญภาวะขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง ผู้พลัดถิ่นเหล่านี้หนีตายมาจาก 36 หมู่บ้าน ใน 5 กลุ่มหมู่บ้าน ของเขต Kyaikto นับตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2025 หลังจากที่ทหารรัฐบาลจำนวนหลายร้อยนายเปิดฉากรุกโจมตี พร้อมการสนับสนุนด้วยปืนใหญ่หนัก

ตามรายงานของฝ่ายบริหารเขต Thaton แห่ง Karen National Union (KNU) ขณะนี้มีผู้พลัดถิ่นจำนวน 17,602 คนในตำบล Kyaikto ที่หนีออกมาจากพื้นที่เสี่ยงภายในเขตเดียวกัน ผู้พลัดถิ่นเหล่านี้กำลังอาศัยอยู่ในป่าใกล้หมู่บ้านของตน หรือในหมู่บ้านใกล้เคียงที่ยังพอมีความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม หลายคนยังคงต้องเคลื่อนย้ายไปมาอย่างต่อเนื่องเพราะเกรงการโจมตีทางอากาศจากรัฐบาลทหาร

Karen Peace Support Network (KPSN) ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางในเมียนมาและไทย จำนวน 22 องค์กร กำลังร่วมมือกับภาคประชาสังคมและกลุ่มชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่ เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้พลัดถิ่นในตำบล Kyaikto โดยเฉพาะเมื่อฤดูฝนใกล้เข้ามา Naw Cherry โฆษกของ KPSN ระบุว่า ตอนนี้สิ่งที่จำเป็นที่สุดคืออาหารและของใช้พื้นฐาน

“สิ่งที่จำเป็นที่สุดตอนนี้คืออาหาร ผู้พลัดถิ่นส่วนใหญ่หนีออกมาโดยไม่ได้เตรียมอะไรติดตัวเลย พวกเขาต้องการของพื้นฐานอย่าง ข้าว น้ำมัน หอมแดง พริก และของใช้จำเป็นอื่นๆ” Naw Cherry กล่าว เธอยังเสริมว่า ยังจำเป็นต้องมี ยาเวชภัณฑ์ การดูแลสุขภาพ และของใช้พื้นฐาน เพื่อให้ผู้พลัดถิ่นสามารถดูแลสุขภาพของตนเองได้

“เมื่อฤดูฝนมาถึง ความเสี่ยงจากไข้หวัดและท้องเสียจะเพิ่มขึ้น ผู้พลัดถิ่นจำเป็นต้องได้รับยาเพื่อป้องกันโรคเหล่านี้ รวมถึง ผ้าห่ม มุ้ง และเสื่อรองนอน อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากน้ำดื่มที่ไม่สะอาด ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคระบาดได้ ดังนั้นเรื่องสุขภาพจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนเช่นกัน” Naw Cherry กล่าวกับ KIC

ตามข้อมูลจาก Committee for Internally Displaced Karen People (CIDKP) ซึ่งเป็นองค์กรด้านมนุษยธรรมที่ก่อตั้งตั้งแต่ปี 1998 มีประชาชนในเขตอำเภอ Thaton ของรัฐ Mon มากถึง 140,000 คน ที่ต้องพลัดถิ่นจากบ้านเรือน นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 จนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2025

อ้างอิง: BNI Online

Contributors

Friends Without Borders

มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน