สำรวจเนื้อในของ นพ.การันตร์ วงศ์ปราการสันติ ที่เป็นทั้งจิตแพทย์ คนทำหนัง และคนทำเทศกาลหนังเชียงใหม่

ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรถ้าใครสักคนหนึ่งจะทำงานสักอย่างที่ไม่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพหลักในชีวิตของเขา และทำได้ดีมากๆ ด้วย ซึ่งเรื่องของคู่สนทนาตรงหน้าก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น 

วันนี้คนธรรมดาจะคุยกับหมอหนุ่ม-นายแพทย์การันตร์ วงศ์ปราการสันติ ซึ่งก็เป็นคนคุ้นเคย ทั้งในชุมชนของเพื่อนไร้พรมแดน และชุมชนคนทำหนังเชียงใหม่นี่แหละ

ชีวิตจริงๆ ของหมอหนุ่มเป็นจิตแพทย์อยู่ที่โรงพยาบาลสวนปรุง แต่หลังออกจากห้องตรวจ เขาหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มทำหนังสั้นเท่ๆ อย่าง Moving Image ที่มีสมาชิกตั้งต้นคือ โจ้-อรุณกร พิค ที่ตอนนี้เป็นผู้กำกับหนังใหญ่ไปแล้ว รวมถึงคนทำหนังสั้นเข้มๆ และศิลปะคมๆ อย่างเต้-จักรพันธ์​ ศรีวิชัย กลุ่มคนเหล่านี้สนุกกับการทำหนังสั้นทั้งส่งประกวดในประเด็นที่หลากหลาย และหนังที่ทำเพื่อขับเคลื่อนและตั้งคำถามกับพลวัตในสังคมได้อย่างชัดเจน ทั้งสิ่งแวดล้อม รับน้อง สิทธิแรงงาน หรือตัวตนของแรงงานข้ามชาติซึ่งนั่นกรุยทางให้พวกเขาได้เจอความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในวงการภาพยนตร์ทั้งในท้องถิ่น และในระดับประเทศ

หนังที่หมอหนุ่มส่งประกวดมีทั้งประเด็นมาตรฐานทั่วไปอย่างที่การประกวดหนังสั้นปกติพึงมี แต่บางครั้งบางทีหมอหนุ่มก็ใส่ประเด็นทางสังคมที่พอจะเป็นเสียงสะท้อนให้คนในชุมชน หรือสื่อสารประเด็นหนึ่งๆ ได้โดยใช้ลีลาการเขียนบทและเล่าเรื่องแบบหมอหนุ่มนี่แหละ อย่างเช่นหนังสั้นที่เขาทำกับเพื่อนไร้พรมแดนในชื่อ Newcomer ที่อุทิศให้กับเพื่อนของเราอย่างบิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ และจะอุ๊-ชัยภูมิ ป่าแส

นอกจากการทำหนังแล้ว หมอหนุ่มก็จริงจังกับการทำเทศกาลหนังด้วย เทศกาลหนังเชียงใหม่หรือ Chiang Mai Film Festival เดินทางมาถึงครั้งที่ 4 ซึ่งเปิดพื้นที่ให้คนทำหนังสั้นในจังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียงได้ดวลฝีมือ ปล่อยพลังสร้างสรรค์ และทำให้เห็นถึงความสำคัญของการมีเวทีประกวดแข่งขันในพื้นที่ ไม่ต้องเข้าไปผจญภัยในเมืองใหญ่

ดังนั้น เรื่องราวของคนธรรมดาวันนี้จะกลับไปสู่เครื่องมือภาพยนตร์อีกครั้ง แต่คราวนี้มันจะเล่าผ่านเลนส์ของหมอที่ไม่ได้แค่ทำหนังอย่างเดียว 

แต่มีเรื่องของการสร้างพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ที่มีเป้าหมายเดียวกันเป็นแกนหลักของเรื่อง

Scene 1
กลุ่มเพื่อนทำหนัง / ภายใน / กลางวัน

“มันไม่มีใครบอกว่าเราชอบอะไร ถ้ามีคนบอกสักนิดนึง ก็คงดีเนอะ” หมอหนุ่มเริ่มบทสนทนากับเราแบบนี้

ในช่วงชีวิตหนึ่งที่หมอยังเป็นนักศึกษาแพทย์ หนึ่งในความสนใจที่เขาหลงใหลและอยากกระโจนลงมือทำมากที่สุดอย่างหนึ่งคือ การทำภาพยนตร์ แต่ด้วยช่องทางการเรียนรู้ยังไม่ได้มากมายนัก คอร์สเขียนบทภาพยนตร์ของ HAL ที่เปิดสอนออนไลน์ และเวิร์กช็อปเล็กๆ ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเป็นช่องทางการเรียนรู้ของเขา

“เราเรียนมันก็ยังไม่ได้ทำหนังจริงจังนะ แต่เราว่ามันก็เป็นพรมลิขิตแหละ” หมอหนุ่มว่า

หลังจากใช้ชีวิตเป็นนักศึกษาแพทย์มานานหลายปีจนจบการศึกษา หมอหนุ่มก็ย้ายมาประจำเป็นจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลสวนปรุงในจังหวัดเชียงใหม่ ชีวิตของหมอที่ย้ายมาอยู่ในพืันที่ใหม่อาจไม่มีอะไรน่าสนใจนอกจากงานประจำวันที่ออกตรวจจนเลิกงานแล้วก็กลับบ้าน 

เพราะชีวิตคนเราไม่ได้มีด้านเดียว หมอหนุ่มจึงเริ่มสำรวจตัวเองว่ามีอะไรที่พอทำได้บ้างเพื่อชุบชูจิตใจตัวเองหลังจากการทำงาน ก็ค้นพบคำตอบจากการเจอสิ่งที่ตัวเองอยากมาตลอดในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตนั่นคือ การทำหนัง และโชคดีไปอีกที่เขาได้เจอชุมชนคนทำหนังสั้นส่งประกวดในชื่อ Moving Image เส้นทางในโลกคนทำหนังของหมอหนุ่มจึงเริ่มจากตรงนี้

“เราชอบการทำหนังสั้นตรงที่ว่า มันไม่ได้เป็นแค่การทำหนังสั้น แต่มันมักจะมีประเด็นอะไรบางอย่างที่เราอยากจะสื่อสารเสมอ มันเหมือนมันคือการแบบชนไอเดียกันเลยนะ มีอะไรเราก็เอามาชนกัน เราเห็นตรงกันว่า การชนไอเดียกัน มันจะทำให้เราสร้างพื้นที่ๆ สามารถถ่ายทอดอะไรลงไปได้” หมอหนุ่มเล่า

ด้วยเป้าหมายส่วนรวมของ Moving Image คือ การทำหนังสั้นส่งประกวด ทำให้สมาชิกในทีมมี “ลายแทง” เวทีประกวดหนังสั้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งการทำหนังในแต่ละเวทีมักมีหัวข้อบังคับอย่างที่เวทีประกวดทั่วไปพึงจะมี ถึงแม้ว่าประเด็นจะชวนเกาหัวไปบ้าง แต่หมอหนุ่มบอกเราว่า การเล่าเรื่องเชิงประเด็นก็มีความท้าทายของมันอยู่

“อย่างการคิดหนังสั้นประกวด มันก็จะมีประเด็นจำพวกที่จะขมวดคิ้วหน่อยๆ เราก็เลือกประเด็นที่มันเป็นข้อถกเถียงกันน่ะ มันจะมีเส้นเทาๆ บางอย่าง ที่มันไม่ได้ถูกต้องเต็มร้อย หรือผิดเต็มร้อยอ่ะ แล้วก็ปล่อยช่องว่างให้กับคนดูเพื่อให้เขาได้คิดบางอย่าง ซึ่งนี่คือสิ่งที่เราคิดตลอดเวลาส่งหนังประกวด”

หมอหนุ่มย้ำว่ายุคหนึ่งเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว การประกวดหนังสั้นยังเบ่งบานมาก ด้วยเทศกาลและเวทีประกวดที่เยอะ แต่หมอหนุ่มก็ต้องแบ่งแยกพื้นที่และการทำงานกันอย่างชัดเจน โดยหมอหนุ่มจะแบ่งเวลาทำบทและทรีตเมนต์ช่วงวันธรรมดาหลังเลิกงาน ส่วนตั้งแต่เย็นวันศุกร์ ไปจนถึงเย็นวันอาทิตย์ จะเป็นช่วงเวลาออกกองถ่าย

Scene 2
โต๊ะเขียนบทในห้อง / ภายใน / กลางคืน

หมอหนุ่มบอกเราว่า พื้นที่การทำหนังสั้นมันคือการใช้เวลาและสมอง เพื่อปล่อยให้สิ่งที่อยู่ในหัวทั้งสองฝั่งที่ต่างกันสุดขั้วได้ทะเลาะ ปะทะสังสรรค์กัน เพื่อนำไปสู่แนวคิดใหม่ในเนื้อเรื่องที่เขาต้องการจะนำเสนอ

“เราไม่ได้บอกว่าคนอื่นไม่มีนะ แต่ตัวเรามันเป็นคนที่ชอบมองทุกอย่างสองด้าน แล้วก็ปล่อยให้สองด้านนั้นมันสู้กันจนแหลกในสมอง อะไรมันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แล้วก็ปล่อยให้มันสู้ไปจนถึงที่สุดกันไปข้างนึง เราเป็นคนที่พอเราเจอเรื่องเล่า เรารู้เลยว่าเรื่องเล่าเนี้ยมันมีคนที่คิดกี่แนวคิดในนั้นบ้าง พอเราโตขึ้น วิธีการมองของเราก็จะยืดหยุ่นมากขึ้น

“เราเคยผ่านประสบการณ์ที่เปลี่ยนเรามากๆ คือโครงการหนังท่าจะแบน จัดโดย iLaw โครงการนี้คือสิ่งที่เปลี่ยนโลกทัศน์ของเราจริงๆ มันกล้าพูดเรื่องที่ปกติพูดไม่ได้ มันแสดงให้เห็นว่าหนังสามารถพูดได้มากกว่าที่คิด”

พอมีโอกาสได้ไปประกวดแข่งขัน และพบเจอคนในวงการมากขึ้น หมอหนุ่มได้แลกเปลี่ยนทรรศนะของการจัดประกวดหนังสั้น ซึ่งเขามองเห็นว่า หนังสั้นก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถขับเคลื่อน เปลี่ยนแปลงสังคม และเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สามารถต่อยอดประเด็นทางสังคมอื่นๆ ได้อีกด้วย

“คือการประกวดหนังสั้นสมัยก่อน พอมันได้เงินมันก็จบอ่ะ เค้าไม่ได้เอาหนังสั้นเราไปทำอะไรต่อ และลิขสิทธิ์ก็จะอยู่ที่เค้าด้วย เราก็ไปทำอะไรต่อไม่ได้ ถ้าเป็นเรานะ เราไม่อยากให้มันจบแค่หนังสั้น มันเอาไปทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ทางสังคมได้อีก มันเป็นเครื่องมือในการที่จะสื่อสารประเด็นทางสังคม หรือถ้าอยากรู้ว่าสังคมคิดอะไร ก็ใช้หนังสั้นเป็นเครื่องมือในการชักชวนคน”

ตัวอย่างงานที่หมอหนุ่มเคยสื่อสารประเด็นสังคมตรงๆ คือหนังสั้นที่สื่อสารประเด็นสิ่งแวดล้อมที่เขาได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง รางวัลหนังสั้นประเภทหนังสั้นที่ไม่ใช่สารคดี จากเวที CCCL Film Festival Awards เมื่อปี 2022 ในชื่อ LICHENS ซึ่งเล่าถึงลูกที่เป็นมะเร็งปอด และเขาอยากระลึกความทรงของพ่อร่วมกับแม่ จึงเป็นการเดินทางเข้าป่าเพื่อระลึกถึงคุณพ่อร่วมกัน โดยภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้สื่อสารถึงประเด็นฝุ่นพิษ 2.5 อย่างตรงไปตรงมา

หรือภาพยนตร์ที่หมอหนุ่มทำร่วมกับเพื่อนไร้พรมแดนชื่อ Newcomer ซึ่งอันนั้นก็พูดถึง “ผู้มาใหม่” ที่ไม่น่าไว้ใจ ที่ทั้งจิกกัดการเลือกปฏิบัติ และความเท่าเทียมได้อย่างแสบๆ คันๆ

Scene 3
ประเทศอังกฤษ / ภายใน / กลางวัน

หนังสั้นของหมอหนุ่มในชื่อ Newcomer ที่เราพูดถึงไป นั่นคือหนังสั้นที่หมอหนุ่มทำส่งตรงมาจากอังกฤษ เมื่อครั้งที่เขาเป็นนักศึกษาปริญญาโทในด้านจิตวิทยาสื่อ

ปริญญาโทใบนั้นช่วยคุณหมอทั้งในแง่ของการเป็นอาจารย์หมอ และคนทำหนัง

“ตอนนั้นเรียนแค่จิตแพทย์ ก็เรารู้สึกว่าอยากเรียนอะไรเพิ่มนิดนึง ก็เลยตัดสินใจว่า เอ้ย เราไปเรียนต่ออังกฤษดีมั้ย จะเรียนอะไร ก็เราชอบสื่อเนาะ เราก็เลยคิดว่า Media Psychology แล้วกัน ซึ่งสิ่งที่เราเรียนคือ ทำไมสื่อแต่ละสื่อมันถึงทำให้มนุษย์คนนึงเปลี่ยนพฤติกรรมได้ หรือสื่อแต่ละสื่อมันมีทฤษฎีอะไร ในการที่จะเปลี่ยนอารมณ์ พฤติกรรม จิตใจของคน”

ฟังดูเหมือนว่าการเรียนจิตวิทยาสื่อจะใช้เวลาไม่นาน แต่เอาจริงๆ แล้วมันใช้เวลาเป็นปี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ช่วยให้หมอหนุ่มเห็นความเกี่ยวข้องระหว่างสื่อกับจิตวิทยาได้อย่างชัดเจน และเข้าใจธรรมชาติของสื่อได้อย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น เพราะมันมีความรู้ทั้งด้านสังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา ที่สามารถนำมารวมกันกับองค์ความรู้ด้านการแพทย์อีกด้วย

หลังจากจบการศึกษา หมอหนุ่มก็กลับมาเมืองไทย และยังคงทำหนังเหมือนเดิม ถึงตรงนั้นหมอหนุ่มได้รับโอกาสที่หลากหลายขึ้นทั้งการเป็นที่ปรึกษาบทให้กับภาพยนตร์ที่เข้าฉายโรงใหญ่ ไปจนถึงการสอนเขียนบทภาพยนตร์ให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้จากคำชักชวนของเชวง ไชยวรรณ

“พี่เชวง​ชวนไปครับ ไปสอนเขียนบทอย่างเดียวเลย คือเราก็ชอบ สนุก เราไม่อยากสวมบทบาทอย่างเดียว เราอยากสวมบทบาทอื่นๆ ที่เราพอจะสนุกกับมันแล้วก็ได้ช่วยคนอื่นด้วย เราไปสอนเขียนบท โดยเอาความรู้เรื่องจิตวิทยาเข้าไปเสริมด้วย อย่างเช่น บุคลิกคนมันแบ่งได้ 9 แบบ หรือการใช้วิธีการมองแบบ External หรือ Internal ด้วย”

ถึงแม้จะมีนักศึกษาที่ทั้งสนใจ และไม่สนใจในสิ่งที่คุณหมอสอน แต่การได้สอนเขียนบทในช่วงเวลาสั้นๆ ก็นับเป็นการเติมเต็มในใจของหมอหนุ่มผู้หลงใหลในการทำหนัง ซึ่งทั้งอาชีพจิตแพทย์ อาจารย์หมอ คนทำหนัง และคนเขียนบท ต่างมีจุดตรงกลางอยู่ในนั้น

“เราเป็นนักเล่าเรื่อง ครู คือการเล่าเรื่องแต่ไม่ได้เล่าผ่านหนัง เล่าผ่านการสอน บทเรียนสามารถทำให้สนุกได้ผ่านการสอน ส่วนหนังหนังก็คือการเล่าเรื่อง แต่ดีไซน์ผ่านภาพ จิตแพทย์หรือแพทย์ ก็คือการออกแบบการรักษาที่เป็นการเล่าเรื่องอีกประเภทนึง ซึ่งทั้งหมดมันก็คือการเล่าเรื่องแบบที่เราเรียกตัวเองว่านักเล่าเรื่องนี่แหละครับ” หมอหนุ่มขยายความ

Scene 4
เทศกาลหนังเชียงใหม่ / ภายใน / กลางคืน

“ทำไมทุกอย่างต้องไปรวมกันอยู่ที่กรุงเทพฯ” นี่คือสิ่งที่หมอหนุ่มตั้งคำถามเวลาส่งหนังประกวดไปตามเวทีต่างๆ ซึ่งก็เป็นเพียงความรู้สึกหนึ่งที่หมอหนุ่มปักธงไว้ในใจ จนวันหนึ่ง หมอหนุ่มได้รับการชักชวนจากเชวงอีกครั้งเพื่อจัดเทศกาลภาพยนตร์สั้นในจังหวัดเชียงใหม่

และใช่ หมอหนุ่มตอบตกลงทันที

“เราไม่ใช่คนที่จะตอบว่า เดี๋ยวก่อน คิดดูก่อนนะ แล้วค่อยร่วม คือถ้าสนใจเราจะตอบว่าทำเลย เพราะถ้ารอ คิดเยอะ อะไรมันก็ไม่เกิดครับ แล้วความจำเป็นของมันคืออะไร? สำหรับเรามันไม่ใช่แค่เรื่องของการ “ต้องมีเหมือนกัน” แต่เป็นเรื่องของสิทธิ์ในการมีพื้นที่ของตัวเองมากกว่า
“เรามีความเชื่อในสิ่งที่เรียกว่าโซนนิ่งว่า ทำไมกรุงเทพฯ ต้องผูกทุกอย่างไว้ที่ตัวเอง? ทำไมเชียงใหม่จะมีของตัวเองไม่ได้? เรารู้สึกว่ากรุงเทพฯ จัดได้ แล้วเชียงใหม่จะไม่มีได้ยังไงอะ? พอเราคิดแบบนี้ เราก็อยากจะเริ่มต้นอะไรบางอย่างที่มันสร้างพื้นที่ให้กับคนที่นี่”
ซึ่งวิธีคิดนี้สอดคล้องกับคนทำงานสร้างสรรค์ในประเด็นอื่นๆ ที่เชียงใหม่ ซึ่งจริงๆ แล้วการเริ่มเทศกาลภาพยนตร์สั้นก็มีข้อท้าทายที่แตกต่างกันไป แต่นอกจากเรื่องการต่อรองในเชิงพื้นที่ การเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับนักเรียน นักศึกษาภาพยนตร์ ศิลปะ ได้มีพื้นที่โชว์เคสงานของตัวเองโดยมีพื้นที่ในชุมชนรองรับ
เทศกาลหนังเชียงใหม่เดินทางมาถึงครั้งที่ 4 แล้ว โดยแต่ละครั้งก็ได้รับการตอบรับที่ดี มีหนังส่งเข้ามาเป็นหลักร้อยเรื่องทุกปี ซึ่งในจำนวนมันฟังดูเยอะและท้าทายมากที่จะต้องดูและตัดสินภาพยนตร์ในจำนวนเท่านี้ แต่หมอหนุ่มกลับบอกว่า เขาสนุกและตื่นตาทุกครั้งเวลาได้ดูงานจากคนรุ่นใหม่ และใครกฺ็ตามที่ทำหนังส่งมาที่แสดงและประกวด

“มีคนส่งหนังเข้ามาเยอะนะ แล้วเราก็ได้ดูหนังกันตาแฉะเลย สนุกมาก (หัวเราะ) แล้วสิ่งที่เห็นชัดเลยคือ มันสร้างคอมมิวนิตี้เชียงใหม่ขึ้นมาจริงๆ เพราะเราไม่ได้แค่จัดงานนะ แต่มันกลายเป็นเครื่องมือในการสร้างพื้นที่ร่วม พูดง่ายๆ คือ คอมมิวนิตี้ทำเอง

และเพราะความสนุก ไปจนถึงความอยากที่หมอหนุ่มอยากดูหนังใหม่ๆ ที่แปลกและแตกแตน หมอหนุ่มเลยคิดรางวัลขึ้นมาคือ WTF Film ที่หมอหนุ่มเป็นคนคิดรางวัลนี้ขึ้นมาเอง

“คือเราเชื่อว่าอารมณ์ อารมณ์ของการดูหนังมีหลายแบบเนาะ สนุก เศร้า แต่อารมณ์ดูหนังแล้วมันเหวอเนี่ย ก็ควรได้รับการเฉลิมฉลองนะ เหวอแบบ เฮ้ย คิดได้ไงวะ เราอยากเห็นอะไรแบบนี้ ก็เลยเป็นที่มาของรางวัลนี้” หมอหนุ่มอธิบาย

Scene 5
ร้านกาแฟในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ / ภายใน / กลางวัน

หมอหนุ่มบอกว่า การจัดเทศกาลหนังเชียงใหม่ ประกอบสร้างความเชื่อของเขาให้เห็นถึงความอยากในการเล่าเรื่องของคนทำหนังทุกรุ่น ทุกเพศ ทุกวัย ซึ่งพวกเขาล้วนแล้วแต่ต้องการเวทีหรือพื้นที่แสดงผลงานของเขา ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง

“แล้วคุณหมอว่าภาพยนตร์มันเปลี่ยนแปลง หรือขับคเลื่อนสังคมได้ยังไงบ้างคะ” เราถาม

“เราว่าภาพยนตร์มันเปลี่ยนแนวคิดคนได้นะ แต่ถ้าไม่มีบริบท ไม่มีเทศกาล ไม่มีการดูร่วมกัน หนังดีแค่ไหน คนก็ไม่ดูหรอก เพราะฉะนั้นหนังมันมีพลัง แต่มันต้องถูกห่อหุ้มด้วยกิจกรรมบางอย่าง เช่น การฉายหนังแล้วคุยกันหรือการตั้งคำถามร่วมกัน สิ่งนี้จะช่วยให้ภาพยนตร์มีพลังและมีความหมาย

“การดูหนังมันเหมือนได้ดูคน เวลาหนังจบ เราจะเห็นเลยว่า “คนทำหนังคนนี้เป็นคนแบบไหน” หนังมันเป็นภาพสะท้อนแนวคิดของยุคสมัยหนึ่ง แนวคิดในหนังเมื่อ 2 ปีที่แล้วกับแนวคิดของหนังปีนี้มันไม่เหมือนกันเลย เหมือนอย่างสมัยเราดู Hormones สมัยนั้นเขาก็พูดเรื่องชุดนักเรียนเรื่องผม เรื่องรับน้อง เดี๋ยวนี้ประเด็นเปลี่ยนไปหมดแล้ว ทั้งหมดนี้มันทำให้เราเข้าใจว่า “อย่ายึดติดกับแนวคิดเดิมของตัวเอง” ไม่ว่าเราจะเป็น Gen X, Y, Z อะไรก็ตาม เราต้องเรียนรู้แนวคิดใหม่ๆ เข้าใจว่าโลกมันเปลี่ยน และหนังเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราเห็นสิ่งนี้” หมอหนุ่มสรุป

Contributors

อาร์ตี้ แสงสุวรรณ์

ไทยแลนด์เวรี่กู้ด ไทยตุ๊ดเวรี่เวลล์

ภูมิพัฒน์ ปกเกษ

เด็กชอบท้องฟ้าท่านหนึ่ง ที่วันๆ เอาแต่นั่งฟังเพลงมองท้องฟ้าเปลี่ยนสีในแต่ละวัน เป็นคนพูดรู้เรื่องแต่ทุกคนชอบบอกว่าพูดไม่รู้เรื่อง บ้า it's you หรือเปล่า not me นะ ถ่ายรูปได้ แต่ชอบหรือเปล่าไม่รู้ ถ่ายก่อน เดี๋ยวก็หาสตอรี่ได้เอง