เครื่องบินทิ้งระเบิดโรงเรียนกลางเขตสะกาย เสียชีวิต 22 ราย เด็ก 20 คน ท่ามกลางคำสัญญาหยุดยิงด้านมนุษยธรรม
เกิดเหตุโจมตีทางอากาศโดยกองทัพรัฐบาลใส่โรงเรียนแห่งหนึ่งในเขต Sagaing เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 22 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 20 คน ตามคำบอกเล่าของพยาน แม้จะมีการประกาศหยุดยิงด้านมนุษยธรรมเพื่อช่วยเหลือการฟื้นฟูประเทศจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ พยานระบุว่า การโจมตีเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 10:00 น. (เวลาเมียนมา) ที่โรงเรียนในหมู่บ้าน O Htein Twin เขต Tabayin ซึ่งอยู่ห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ราว 100 กิโลเมตร

เลขาธิการสหประชาชาติ Antonio Guterres แสดงความวิตกอย่างยิ่งต่อรายงานเหตุการณ์ดังกล่าว โดยโฆษกของเขาแถลงต่อผู้สื่อข่าวที่นิวยอร์กว่า “โรงเรียนควรเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับเด็กในการเรียนรู้ ไม่ใช่เป้าหมายของระเบิด”
ในช่วงบ่ายของวันจันทร์ อาคารเรียนสีเขียวกลายเป็นซากปรักหักพัง หลังคาเหล็กยุบตัวและผนังอิฐมีรูโหว่จากแรงระเบิด มีเป้หนังสือจำนวนมากวางกองอยู่หน้าต้นเสาธงที่ชูธงชาติเมียนมา ขณะที่ผู้ปกครองหลายคนกำลังขุดหลุมศพเล็กๆ บนพื้นดินแข็ง เพื่อฝังร่างของลูกหลานที่ห่อผ้าไว้
“ตอนนี้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 22 คน เป็นเด็ก 20 คน และครู 2 คน” ครูหญิงวัย 34 ปีรายหนึ่งของโรงเรียนกล่าว โดยขอสงวนชื่อ
“พวกเราพยายามพาเด็กๆ แยกย้าย แต่เครื่องบินโจมตีเร็วมากและทิ้งระเบิดลงมา” เธอกล่าวต่อ “ฉันยังไม่สามารถรวบรวมข้อมูลผู้บาดเจ็บทั้งหมดได้ เพราะผู้ปกครองต่างรีบเร่งกันมาก” เจ้าหน้าที่การศึกษาจากพื้นที่เดียวกันยืนยันยอดผู้เสียชีวิตเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลทหารระบุว่า รายงานเรื่องการโจมตีครั้งนี้เป็น “ข่าวปลอมที่แต่งขึ้น”
“ไม่มีการโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายที่ไม่ใช่ทางทหาร” แถลงการณ์ระบุ
เมียนมาเผชิญกับสงครามกลางเมือง ตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนในปี 2021 โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลทหารได้รับความสูญเสียจากการต่อต้านของกองกำลังกองโจรและกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ ทั้งนี้ กองทัพได้ประกาศหยุดยิงตลอดเดือนนี้ “เพื่อดำเนินการฟื้นฟูและกอบกู้ประเทศ” หลังแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ที่เกิดขึ้นในภาคกลางของเมียนมาเมื่อปลายเดือนมีนาคม ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 3,800 คน
อ้างอิง: Frontier Myanmar
ภาพ: AFP
อดีตเอกอัครราชทูตเมียนมาในอังกฤษถูกตั้งข้อหาบุกรุกสถานทูต หลังยึดบ้านพักต้านรัฐบาลทหาร
ตำรวจอังกฤษได้ตั้งข้อหา Kyaw Zwar Minn อดีตเอกอัครราชทูตเมียนมาในสหราชอาณาจักร ในข้อหาบุกรุกที่พักทางการทูตในกรุงลอนดอน หลังเขาปฏิเสธที่จะออกจากบ้านพักดังกล่าวนับตั้งแต่ถูกปลดจากตำแหน่งเนื่องจากแสดงจุดยืนต่อต้านการรัฐประหารในเมียนมาเมื่อปี 2021

Kyaw Zwar Minn ถูกล็อกไม่ให้เข้าอาคารสถานเอกอัครราชทูตเพียงไม่กี่เดือนหลังการรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 และถูกแทนที่โดยตัวแทนของรัฐบาลทหาร หลังจากเขาเรียกร้องให้ปล่อยตัว Aung San Suu Kyi ที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมาซึ่งถูกคุมขัง นับตั้งแต่การประท้วงครั้งนั้น ซึ่งรัฐบาลอังกฤษเคยยกย่องในขณะนั้น Kyaw Zwar Minn ได้พำนักอยู่ที่บ้านพักเอกอัครราชทูตทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นคฤหาสน์ที่ล้อมรอบด้วยลวดหนามและกล้องวงจรปิด โดยเขาปฏิเสธที่จะส่งมอบบ้านพักคืนให้กับสถานทูต ซึ่งเขาระบุว่าขณะนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของตัวแทนรัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรม
ตำรวจลอนดอนระบุว่า Kyaw Zwar Minn ถูกตั้งข้อหาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาในข้อหาบุกรุกพื้นที่ทางการทูต และมีกำหนดขึ้นศาล Westminster Magistrates’ Court ในวันที่ 30 พฤษภาคมนี้
Kyaw Zwar Minn ปฏิเสธให้ความเห็นต่อเรื่องดังกล่าว และกระทรวงการต่างประเทศของสหราชอาณาจักรและสถานทูตเมียนมาในลอนดอนยังไม่ได้แสดงความเห็นในขณะนี้ โดยสำนักข่าว Reuters รายงานก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลอังกฤษเคยเรียกร้องให้ Kyaw Zwar Minn ออกจากบ้านพัก โดยอ้างถึงแรงกดดันจากรัฐบาลทหารใน Naypyidaw
Chris Gunness ผู้ก่อตั้งกลุ่มสิทธิมนุษยชน Myanmar Accountability Project เรียกร้องให้อัยการสูงสุดของอังกฤษเข้ามาแทรกแซงเพื่อยุติคดีนี้
“เป็นเรื่องที่ขัดต่อผลประโยชน์ของชาติอย่างชัดเจน หากอังกฤษยอมให้รัฐบาลทหารที่ตนเองประณามและคว่ำบาตร เข้ายึดทรัพย์สินทางการทูตในลอนดอน เพราะนั่นจะบ่อนทำลายนโยบายของอังกฤษที่สนับสนุนประชาธิปไตยในเมียนมา” เขากล่าว
อังกฤษเป็นหนึ่งในหลายประเทศตะวันตกที่เรียกร้องให้มีการฟื้นฟูประชาธิปไตยในเมียนมา และได้คว่ำบาตรผู้นำทหารเมียนมารวมถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจบางส่วนของพวกเขา ประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่ รวมถึงสหราชอาณาจักร ยังไม่ได้ให้การรับรองรัฐบาลทหารเมียนมาอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ในเดือนกรกฎาคม 2021 รัฐบาลทหารเมียนมาได้แต่งตั้งหัวหน้าชั่วคราวประจำสถานทูตในลอนดอน ซึ่งเป็นกระบวนการที่ไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลอังกฤษตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต
อ้างอิง: DVB English
ผู้สื่อข่าว Myaelatt Athan ถูกศาลเมียนมาตัดสินจำคุก 5 ปี ฐานมีกลุ่มต่อต้านในโทรศัพท์
ทางการเมียนมาต้องปล่อยตัว Than Htike Myint ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว Myaelatt Athan โดยทันที หลังถูกศาลพิพากษาจำคุก 5 ปีในข้อหาก่อการร้าย ซึ่งถูกใช้ในทางมิชอบเพื่อคุกคาม ข่มขู่ และคุมขังนักข่าว องค์กร Committee to Protect Journalists (CPJ) ระบุเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 3 เมษายน ศาลเมือง Myanaung ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมียนมาตัดสินโทษจำคุก Than Htike Myint ภายใต้มาตรา 52(ก) ของกฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย เนื่องจากพบการติดต่อกับกลุ่ม People’s Defense Force (PDF) ในโทรศัพท์มือถือของเขา โดย Salai Kaung Myat Min บรรณาธิการบริหารของ Myaelatt Athan ระบุว่า การติดต่อกับแหล่งข่าวเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการทำข่าวตามหน้าที่
Shawn Crispin ผู้แทน CPJ ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “CPJ ขอประณามอย่างรุนแรงต่อคำพิพากษาจำคุกที่รุนแรงเกินควรต่อผู้สื่อข่าว Than Htike Myint กองทัพเมียนมาต้องเลิกเหมารวมว่างานข่าวคือการก่อการร้าย และต้องหยุดปฏิบัติต่อผู้สื่อข่าวอิสระว่าเป็นอาชญากร”
Than Htike Myint ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่เมือง Ein Pin เขต Myanaung ขณะกลับจากการหลบซ่อนชั่วคราวเพื่อเยี่ยมภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์ ตามข้อมูลจากสมาคมผู้สื่อข่าวเมียนมาในต่างประเทศ (Independent Myanmar Journalists Association) และสำนักข่าว DVB
ระหว่างการควบคุมตัว เขาถูกทหารทำร้ายร่างกายระหว่างสอบสวนที่ฐานกองพันทหารราบเบา 51 และถูกกักตัวนาน 7 วันก่อนจะถูกส่งตัวไปยังสถานีตำรวจ Myanaung จากนั้นถูกควบคุมตัวที่เรือนจำ Hinthada ซึ่งอยู่ในเขตชายฝั่ง Ayeyarwady
Myaelatt Athan ไม่ได้เปิดเผยข่าวการตัดสินคดีต่อสาธารณะจนถึงวันที่ 29 เมษายน
เมียนมาอยู่ในภาวะสงครามภายในตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของ Aung San Suu Kyi ในปี 2021 โดยมีการสู้รบกับกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยและกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
Than Htike Myint เริ่มทำข่าวให้ Myaelatt Athan ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา และเคยทำงานให้กับสื่อท้องถิ่นอย่าง DVB และ Mizzima
ในรายงานสำรวจประจำปีล่าสุดของ CPJ ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2024 เมียนมาเป็นประเทศที่มีนักข่าวถูกคุมขังมากเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยมีผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 35 คนถูกจำคุก
กระทรวงข้อมูลข่าวสารของเมียนมาไม่ตอบอีเมลคำขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิและการใช้กฎหมายก่อการร้ายในครั้งนี้
อ้างอิง: DVB English
งบช่วยเหลือลดหนัก! ผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงในค่ายชายแดนไทยกว่าแสนชีวิตเผชิญวิกฤตอาหาร-อนาคตไม่แน่นอน
ชาวเมียนมาที่หลบหนีจากบ้านเกิดมายังค่ายผู้อพยพตามแนวชายแดนประเทศไทย กำลังเผชิญความทุกข์ยากมากขึ้น หลังความช่วยเหลือจากนานาชาติถูกลดงบอย่างหนัก ขณะที่องค์กรภาคประชาสังคมเปิดเผยกับ Radio Free Asia เมื่อวันพุธว่า มีผู้ประสบภัยกว่า 108,000 คน ที่กำลังขาดแคลนอาหารอย่างต่อเนื่อง ผู้หลบหนีส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง จากรัฐ Kayin ทางตะวันออกของเมียนมา ซึ่งกำลังเผชิญการปราบปรามรุนแรงจากกองทัพเมียนมา ทั้งการเผาหมู่บ้านและการโจมตีทางอากาศ จึงต้องหลบหนีข้ามชายแดนมาไทย และใช้ชีวิตในค่ายอพยพเป็นเวลาหลายปีโดยไม่มีสถานะทางกฎหมายหรือโอกาสในการทำงาน

สถานการณ์ในค่ายทรุดหนักขึ้น หลังรัฐบาลสหรัฐฯ ตัดงบประมาณของ USAID (U.S. Agency for International Development) ซึ่งเป็นผู้บริจาครายใหญ่ที่สุด คิดเป็น 69% ของงบประมาณรวมในค่าย ณ ต้นปี 2025 โดยความช่วยเหลือเหล่านี้เคยครอบคลุมบริการพื้นฐานทั้งการรักษาพยาบาล การแจกจ่ายอาหาร และสุขาภิบาล ซึ่งดำเนินการโดยองค์กรต่างๆ เช่น International Rescue Committee และ The Border Consortium ตามข้อมูลจาก Organization for World Peace
Cherry โฆษกของ Karen Peace Support Network กล่าวว่าการตัดงบอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบอย่างรุนแรง “ผู้ลี้ภัยไม่มีเอกสาร ไม่มีสิทธิ์ออกจากค่าย ไม่มีหนังสือเดินทางหรือสัญชาติไทย พวกเขาเผชิญกับความยากลำบากอย่างมากในการหางาน” ถ้อยแถลงร่วมจาก 20 กลุ่มชาวกะเหรี่ยงเมื่อวันพุธระบุว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จะได้รับงบอาหารเพียง 5 เซนต์สหรัฐฯ ต่อวัน ขณะที่เด็กอายุเกิน 5 ปี จะได้รับเพียง 8 เซนต์ ต่อวัน นอกจากนี้ยังมีประชากรกว่า 1 ล้านคน ในรัฐ Kayin และพื้นที่ใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบจากการลดความช่วยเหลือ
“แม้แต่ก่อนการลดงบครั้งใหญ่ อาหารที่ได้รับก็ยังต่ำกว่าระดับขั้นต่ำที่จำเป็นต่อการมีชีวิตอยู่” กลุ่มชาวกะเหรี่ยงกล่าว พร้อมชี้ว่าการตัดงบเกิดจากทั้งการลดงบของสหรัฐฯ และการสนับสนุนนานาชาติที่ลดลงอย่างต่อเนื่องต่อประชาชนที่พลัดถิ่น
“การลดความช่วยเหลือในช่วงเวลานี้ถือเป็นหายนะ กองทัพเมียนมายังคงโจมตีบ้านเรือน โรงเรียน สวนเกษตร ศาสนสถาน และศูนย์การแพทย์ด้วยการโจมตีทางอากาศและปืนใหญ่”
กลุ่มต่างๆ เรียกร้องให้ฟื้นฟูงบช่วยเหลือระยะยาวสำหรับผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาในประเทศไทย เพิ่มการสนับสนุนจากผู้บริจาครายเดิม และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยมีสิทธิทำงาน รวมถึงยกเลิกข้อจำกัดในการส่งความช่วยเหลือข้ามพรมแดนไปยังพื้นที่ที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพเมียนมา
แม้ USAID จะเป็นผู้สนับสนุนหลัก แต่ประเทศอื่นๆ เช่นออสเตรเลียก็มีบทบาทในการจัดสรรงบประมาณเช่นกัน แม้ในระดับที่น้อยกว่า หลังจากที่ USAID ยุติโครงการส่วนใหญ่ในเมียนมาและประเทศไทย องค์กรภาคประชาสังคมที่พึ่งพางบประมาณจากหน่วยงานดังกล่าวต้องลดกิจกรรมหรือเลิกจ้างพนักงาน ขณะเดียวกันก็มีความกังวลเพิ่มขึ้นว่าอาจเกิดการระบาดของโรคร้ายแรง เช่น HIV วัณโรค มาลาเรีย และโรคป้องกันได้ด้วยวัคซีน
แม้ว่ากองทัพเมียนมาจะขยายข้อตกลงหยุดยิงออกไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม ภายหลังแผ่นดินไหวใหญ่เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่คร่าชีวิตประชาชนไปกว่า 3,700 คน แต่การโจมตีทางอากาศยังคงดำเนินต่อเนื่อง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 200 ราย และพลัดถิ่นอีกหลายหมื่นคน
อ้างอิง: Radio Free Asia
ข้าราชการเมียนมานับหมื่นยังไร้ที่พัก หลังแผ่นดินไหวใหญ่ถล่มเนปิดอว์ – ต้องอยู่เต็นท์ทำงานต่อปกติ
รัฐบาลทหารเมียนมายังคงประสบปัญหาในการเก็บกวาดซากอาคารและรื้อถอนที่พักข้าราชการที่พังถล่มจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมาในเมืองหลวง Naypyitaw ทำให้ข้าราชการจำนวนมากต้องอาศัยอยู่ในเต็นท์ชั่วคราวตามโรงเรียน สนามฟุตบอล หรืออาคารราชการ พร้อมทำงานตามปกติ

“หลังแผ่นดินไหว ฉันไปอยู่กับพี่สาวที่ Yangon สักสี่ห้าวัน แล้วก็กลับมาตามคำสั่งของหัวหน้าแผนก” ข้าราชการจากกระทรวงกิจการชาติพันธุ์กล่าวกับ The Irrawaddy “ตอนนี้เขาสร้างที่พักชั่วคราวไว้ให้ ฉันก็อยู่ตรงนั้น อพาร์ตเมนต์เดิมยังถูกรื้ออยู่ ข้าราชการบางคนก็ไปนอนในที่ทำงาน แต่เราก็ยังต้องทำงานตามปกติ”
แผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูดครั้งนี้ส่งผลให้ ประมาณ 80% ของอาคารราชการและที่พักข้าราชการใน Naypyitaw ได้รับความเสียหาย เมืองหลวงแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่มีผู้เสียชีวิตมากเป็นอันดับสองรองจาก Mandalay โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ Naypyitaw มีเขตที่พักอาศัยของข้าราชการทั้งหมด 9 เขต รัฐบาลเคยให้คำมั่นว่าจะเริ่มซ่อมแซมอาคารที่เสียหายเล็กน้อยช่วงปลายเดือนพฤษภาคม แต่จนถึงขณะนี้ ซึ่งล่วงเลยมากว่า 2 สัปดาห์ของเดือนแล้ว ก็ยังไม่สามารถเคลียร์ซากปรักหักพังได้
รัฐบาลทหารได้สั่งให้บริษัทผู้รับเหมาที่ก่อสร้างอาคารเดิม รับผิดชอบซ่อมแซมและก่อสร้างใหม่อีกครั้ง
เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม มีการจัดส่งบ้านพักสำเร็จรูปจำนวน 340 ยูนิต พร้อมเฟอร์นิเจอร์สำนักงาน ซึ่งได้รับบริจาคจากรัฐบาลจีน เดินทางถึง Yangon และถูกส่งต่อมายัง Naypyitaw ทันที เพื่อใช้เป็นที่ทำงานชั่วคราวของกระทรวงต่างๆ Soe Win รองผู้นำรัฐบาลทหาร เป็นผู้ควบคุมการติดตั้งสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว พร้อมกำชับให้กระทรวงต่างๆ กลับมาเปิดทำการเต็มรูปแบบภายในปลายเดือนพฤษภาคมนี้ แต่จนกว่าจะถึงตอนนั้น หน่วยงานหลายแห่งยังต้องทำงานจากเต็นท์ชั่วคราว
ปัจจุบัน รัฐบาลเปิดศูนย์พักพิง 75 แห่งใน Naypyitaw ให้กับครอบครัวที่ไร้ที่อยู่อาศัยกว่า 2,900 ครอบครัว ขณะเดียวกัน ยังมีอีกกว่า 23,800 ครัวเรือน ที่ต้องหาที่พักชั่วคราวด้วยตนเอง ตามรายงานจากกรมจัดการภัยพิบัติของเมียนมา
อ้างอิง: The Irrawaddy
นักสิทธิฯ-NGO สูญเสียครั้งใหญ่ ‘จอน อึ๊งภากรณ์’ ถึงแก่อสัญกรรมในวัย 77 ปี
ประชาไทรายงานเมื่อช่วงเช้าวันที่ 13 พฤษภาคม ว่า จอน อึ๊งภากรณ์ ถึงแก่อสัญกรรมที่บ้านพัก สิริอายุ 77 ปี

จอนเป็นบุตรชายคนโตของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ นักเศรษฐศาสตร์และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และ มากาเร็ต อึ๊งภากรณ์ โดยจบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมศาสตร์จาก University of Sussex ประเทศอังกฤษ หลังเรียนจบด้านวิศวกรรมไฟฟ้า จอนเริ่มต้นทำงานเป็นอาจารย์วิชาฟิสิกส์ให้กับนักศึกษาแพทย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเวลาห้าปี โดยได้รับการยอมรับว่าเป็นอาจารย์หนุ่มไฟแรงที่สนับสนุนกิจกรรมนักศึกษาอย่างจริงจัง
ในช่วงเหตุการณ์การเมืองเดือนตุลาคม 2516 และ 2519 จอนย้ายไปพำนักที่ประเทศอังกฤษพร้อมกับบิดา ที่นั่นเขา บิดา พี่น้อง และกลุ่มชาวไทยในต่างแดน ได้ร่วมกันจัดทำจดหมายข่าวชื่อ มิตรไทย เพื่อรายงานข่าวสารเกี่ยวกับประเทศไทยไปยังชุมชนไทยในต่างประเทศและสังคมโลก พร้อมช่วยเหลือนักศึกษาและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ลี้ภัยจากการถูกไล่ล่า
จอนกลับมายังประเทศไทยในเวลาต่อมา และได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรกของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (TVS) ในช่วงเวลาเดียวกับที่ ภูมิธรรม เวชยชัย ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการ เขาทำงานที่นี่กว่าสิบปีในการปลุกปั้นคนรุ่นใหม่ให้เข้าใจและทำงานกับชุมชนในชนบท ต่อมาเขาให้ความสนใจประเด็นด้านสุขภาพ โดยเฉพาะโครงการดูแลผู้ป่วย HIV ในชื่อ “เข้าถึงการดูแลรักษาและสนับสนุนผู้ติดเชื้อเอดส์” ซึ่งมุ่งลดอคติและสร้างความเข้าใจแก่สังคมไทย และในปี 2534 ได้ร่วมก่อตั้งและดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ จนถึงปี 2543
ในปีเดียวกันนั้น เขาได้รับเลือกจากประชาชนให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพฯ และดำรงตำแหน่งจนถึงปี 2549
ในปี 2547 เขาร่วมกับเพื่อนนักเคลื่อนไหวและนักวิชาการก่อตั้งสำนักข่าวออนไลน์ Prachatai ขึ้น และยังมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งองค์กรภาคประชาสังคมอีกหลายแห่ง รวมถึง iLaw (โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน)
จอน อึ๊งภากรณ์ ได้รับการยกย่องตลอดชีวิตการทำงานว่าเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย นักพัฒนา นักสื่อ และนักวิชาการ ที่อุทิศตนเพื่อสิทธิ เสรีภาพ และความเป็นธรรมในสังคมไทยอย่างแน่วแน่และต่อเนื่อง
อ้างอิง: The Nation
ภาพ: ประชาไท