ลูกสาว

ย้อนกลับไปตอนสมัยผมยังเด็ก หมู่บ้านตามแนวชายแดนไทย-พม่าที่อำเภอท่าสองยางของเรายังมีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานไม่เพียงพอ โดยเฉพาะไฟฟ้าซึ่งเข้าถึงเพียงไม่กี่หมู่บ้าน แม้จะเข้าถึงชาวบ้านก็ไม่มีเงินในการไปขึ้นทะเบียนขอใช้ สิ่งอำนวยความสะดวกในบ้านไม่ว่าจะเป็นหม้อหุงข้าว ทีวี ตู้เย็น ฯลฯ จึงมีใช้เฉพาะบ้านของผู้ที่มีฐานะเท่านั้น บ้านไหนที่มีทีวีเด็กและชาวบ้านก็จะไปอาศัยดูจนบางครั้งเจ้าของบ้านรำคาญถึงกับต้องไล่กลับก็มี แต่ปัจจุบันภาพเหล่านี้เริ่มหายไปเพราะชาวบ้านหันมาทำเกษตรเพื่อการค้า เมื่อรายได้เพิ่มมากขึ้นความสะดวกสบายจากไฟฟ้ารวมถึงเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ จึงไม่เกินกำลังที่เราจะหามาเติมความสุขให้ชีวิต

เท่าที่ผมสังเกตดูคนแถวบ้านไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ต่างชื่นชอบการดูละครทีวี แต่บางครั้งสีสันที่ผู้สร้างแต่งเติมให้ละครมีรสชาติทำให้ผมเป็นห่วงเด็ก ๆ ที่นั่งดูอยู่ โดยเฉพาะฉากการใช้เล่ห์เหลี่ยมแย่งมรดกและฉากตบตีกันของตัวละครหญิงเพื่อแย่งตัวละครชายในเรื่อง สำหรับผู้ใหญ่อย่างผมคงเข้าใจได้ไม่ยากว่าเรื่องในละครเป็นเรื่องเหนือจริงเพราะตั้งแต่เล็กจนโตผมยังไม่เคยเห็นเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในหมู่บ้านชายแดนของเราสักที แต่กับเด็กล่ะพวกเขาจะสามารถแยกแยะได้หรือไม่

วันหนึ่งผมมีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมเพื่อนที่ดอยแม่ระเมิง ระหว่างที่พูดคุยกับเพื่อนอยู่ผมก็ได้ยินเสียงเด็ก ๆ ที่เล่นกันอยู่ใต้ถุนบ้านพูดจาล้อเลียนเด็กหญิงซึ่งเป็นหลานของเพื่อนว่าเป็นแฟนกับเด็กชายในกลุ่ม ผมจึงตะโกนถามหลานเพื่อนว่า “อะไรกันตัวแค่นี้มีแฟนแล้วหรือ” ชั่วอึดใจเด็กหญิงวิ่งขึ้นกระไดมานั่งในวงสนทนาเพื่อตอบผมว่า “หนูเคยมีแฟนมาแล้วสามคน ตอนนี้เหลือคนเดียว” เด็กหญิงตอบฉะฉาน “หนูอยากมีแฟนรวย ๆ จะได้มีเงินไว้กินขนมมีรถยนต์ไว้ขับจะได้สบาย ถ้าเป็นไปได้หนูอยากมีแฟนซักเจ็ดแปดคนแล้วก็ฆ่าทิ้งจะได้เอาสมบัติให้พ่อแม่ได้ใช้” เด็กหญิงพูดต่อด้วยน้ำเสียงจริงจัง “คนที่รวยและมีรถยนต์ขับส่วนใหญ่เขาก็มีลูกเมียแล้วไม่กลัวเหรอ” ผมถามกลับ “หนูไม่ยอมให้เมียเขามาทำร้ายหนูหรอก หนูจะตบเขา” ถึงแม้คนในวงสนทนาจะหัวเราะกับความคิดเกินเด็กของเธอ แต่ผมคิดว่าผู้ใหญ่ที่ได้ฟังก็คงไม่สบายใจกับความคิดนั่นเหมือนกับผม

หลังจากเด็กหญิงวิ่งไปเล่นกับเพื่อน ๆ ต่อ ผมจึงถามแม่เด็กว่าความคิดเหล่านี้มาจากไหนในเมื่อหมู่บ้านนั้นไม่มีไฟฟ้าใช้ไม่มีทีวีให้ดู แม่ของเด็กบอกว่าลูกสาวคงจำมาจากละครทีวีที่ได้ดูเวลาลงไปเยี่ยมญาติในเมือง คำตอบนั้นทำให้ผมกังวลว่านี่ขนาดเด็กได้ดูทีวีนาน ๆ ครั้งยังมีความคิดอย่างนี้ แล้วเด็กที่ดูความรุนแรงผ่านจอทีวีทุกวันล่ะพวกเขาจะเป็นอย่างไร

ผมเชื่อว่าทุกภาคส่วนของสังคมที่ละเลยให้ความรุนแรงปรากฏบนสื่อก็เท่ากับเป็นผู้สร้างปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมทางอ้อม หากเราละเลยและไม่ร่วมกันสร้างเกราะป้องกันความรุนแรงให้กับเด็ก ๆ ซึ่งเป็นอนาคตของชาติในวันนี้แล้วเราหวังจะเห็นสังคมที่ดีในวันข้างหน้าได้อย่างไร

Contributors

Friends Without Borders

มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน