เพื่อนข้างบ้าน: อัพเดทสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมาประจำสัปดาห์ [7 พฤษภาคม 68]

กองทัพเมียนมายิงปืนใหญ่ถล่มหมู่บ้านใน Kyike Hto เจ็บ 2 ราย บ้านพังเสียหาย

เมื่อวันที่ 24 เมษายน กองพันปืนใหญ่ 310 ภายใต้การควบคุมของคณะรัฐประหารเมียนมา (SAC) ได้ยิงกระสุนปืนใหญ่ 9 ลูกเข้าใส่พื้นที่ Mon Su ในหมู่บ้าน Ka Ywel เขต Kyike Hto อำเภอ Doo Tha Htu ส่งผลให้หญิงวัย 34 ปี และชายวัย 47 ปีได้รับบาดเจ็บ

แม้ว่าการช่วยเหลือสำหรับหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด และเด็กเล็กยังไม่ได้ถูกระงับโดยตรง แต่ก็มีความกลัวว่าอาจเป็นกลุ่มต่อไปที่จะได้รับผลกระทบ ตามคำกล่าวของนาแมะ พยาบาลประจำหน่วยดูแลสุขภาพแม่และเด็กของค่าย

“ฉันกังวลว่าในอนาคตเราจะมีเสบียงพอหรือไม่ ตอนนี้มีเด็ก 3 คนในคลินิกที่ป่วยจากภาวะขาดสารอาหาร ตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นหรือไม่? มันน่ากังวล ค่ายของเราอยู่ไกลจากตัวเมือง ถนนก็แย่ และอาหารก็หายาก นั่นแหละที่ทำให้เรากังวล” เธอกล่าว

ในขณะนี้ หญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอดจะได้รับถั่ว น้ำมัน และบริการเพิ่มเติมอื่น ๆ ส่วนเด็กอายุระหว่าง 6 เดือนถึง 2 ปี จะได้รับอาหารเสริมทางโภชนาการเป็นประจำ ผู้อยู่อาศัยในค่ายผู้ลี้ภัยไม่มีรายได้ประจำ และไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปทำงานนอกค่าย ด้วยปัญหาด้านการเงิน ทำให้หลายครอบครัวไม่สามารถซื้ออาหารที่เพียงพอและมีคุณค่าทางโภชนาการได้ หากหญิงตั้งครรภ์และเด็กเล็กไม่ได้รับสารอาหารเพียงพอ อาจนำไปสู่อาการขาดสารอาหาร เช่น การเจริญเติบโตช้า ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ พัฒนาการทางสมองล่าช้า และน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ตามรายงานจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

“หญิงตั้งครรภ์จำเป็นต้องได้รับโภชนาการเพียงพอ เพราะการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ขึ้นอยู่กับอาหารและวิถีชีวิตของแม่ หากแม่ขาดสารอาหาร จะส่งผลกระทบต่อทารกโดยตรง เด็กอาจคลอดก่อนกำหนดหรือน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ หลังคลอด แม่ก็ต้องได้รับโภชนาการที่เหมาะสมเพื่อให้ลูกเติบโตแข็งแรง” เจ้าหน้าที่คนหนึ่งกล่าว

เธอยังเสริมว่า หญิงตั้งครรภ์และเด็กเล็กควรได้รับอาหารเสริม วิตามิน นม และผลิตภัณฑ์จากนมอย่างสม่ำเสมอ

จากข้อมูลของคลินิกสุขภาพภายในค่าย พบว่ามีหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด และเด็กเล็กรวมประมาณ 80 คน ที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยกะเรนนี หมายเลข 2

จากการเปลี่ยนแปลงผู้นำในประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้มีการระงับเงินสนับสนุนด้านความช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ส่งผลให้องค์กรกู้ภัยระหว่างประเทศต้องหยุดบริการด้านสุขภาพบางส่วนเป็นการชั่วคราว ซึ่งยิ่งทำให้สถานการณ์ของผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนไทย-พม่าเลวร้ายยิ่งขึ้น

อ้างอิง: Kantarawaddy Times

KNU ปิดถนนสายหลักจากเมืองตองอู-Thandaung ชาวบ้านขาดแคลนอาหารและน้ำมันเชื้อเพลิง

ถนนสายหลักที่เชื่อมระหว่างเมืองตองอูกับเขต Thandaung ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญภายในเขตอิทธิพลของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ถูกปิดโดยกองกำลังของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หน่วยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการกำหนดวันที่จะเปิดเส้นทางอีกครั้ง

การปิดถนนดังกล่าว ทำให้บางพื้นที่ในเมือง Thandaung ริ่มประสบปัญหาขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงน้ำมันเชื้อเพลิง ขณะที่ชาวบ้านจำนวนมากกังวลว่า หากถนนยังคงถูกปิดต่อไปเป็นเวลานาน สถานการณ์อาจเลวร้ายยิ่งขึ้น

หญิงชาวเมือง Thandaung รายหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์เปิดเผยชื่อกล่าวว่า “ก่อนปิดถนนประมาณสองวัน คนในตองอูเริ่มไปซื้อข้าวสารไว้ล่วงหน้า แต่คนส่วนใหญ่ไม่คาดคิดว่าจะปิดจริงหรือปิดนาน เลยไม่ได้ซื้อเก็บไว้มาก ตอนนี้บางร้านเริ่มไม่มีของขาย ข้าวของบางอย่างขาดตลาดแล้ว น้ำมันเชื้อเพลิงก็ไม่มีขาย วันก่อนน้ำมันที่ยังมีอยู่ต้องจ่ายถึงลิตรละหมื่นห้าพันจั๊ตเลย”

นอกจากปัญหาเรื่องอาหารและของใช้แล้ว ชาวบ้านยังแสดงความกังวลว่าหากเกิดเหตุฉุกเฉินด้านสุขภาพ ก็ต้องพึ่งพาเมืองตองอูเพียงแห่งเดียว แต่ด้วยการที่ถนนถูกปิด ทำให้คนจำนวนมากไม่กล้าเดินทางผ่านเส้นทางนี้

หญิงชาวบ้านอีกคนหนึ่งกล่าวว่า “ฝั่งโน้นก็ว่าไม่มีข้าวสาร น้ำมันแล้ว คนจากบนเขาที่เคยมาทำงานฝั่งนี้ก็มาไม่ได้ ตอนนี้เหมือนทุกอย่างถูกตัดขาดไปหมด บางครอบครัวแม่ลูกก็แยกจากกัน คนในตองอูยังพอไปได้ถึงหกไมล์ แต่วันก่อนมีระเบิดใหญ่ตกใกล้สี่ไมล์ เลยไม่มีใครกล้าไปแล้ว”

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา หญิงวัยกลางคนคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในบริเวณสี่ไมล์ของถนนสายตองอู–Thandaung ถูกกระสุนปืนใหญ่ของกองทัพสภาการปกครองทหารยิงตกใส่จนเสียชีวิต ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ยิ่งหวาดกลัว และไม่กล้าเดินทางต่อไปยังจุดอื่นตามเส้นทางสายนี้

ตลอดสี่ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจ รถบรรทุกสินค้าและประชาชนที่ต้องใช้ถนนสายตองอู–Thandaung–Leektho ในการขนส่งและซื้อขายข้าวสารจากตองอู ต้องเผชิญกับการเรียกเก็บภาษีเกินจริงจากด่านของกองทัพ รวมถึงข้อจำกัดในการขนส่งข้าวสารและน้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลให้เกิดอุปสรรคต่อเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่อย่างมาก

อ้างอิง: Myanmar Peace Monitor

ครูหนุ่มผู้ร่วมอารยะขัดขืน เสียชีวิตในเรือนจำคะถ่า หลังไม่ได้รับการรักษาพยาบาลที่เพียงพอ

เครือข่ายนักโทษการเมืองเมียนมา (PPNM) เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ว่า โกเหงียนมินทู หรือที่รู้จักในชื่อ อาโน นักโทษการเมืองวัย 33 ปี ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 15 ปี ได้เสียชีวิตในเรือนจำคะถ่า เขตสะกาย เมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา เนื่องจากไม่ได้รับการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม

โกเหงียนมินทูเป็นครูจากเมืองอินดอว์ และเป็นผู้เข้าร่วมขบวนการอารยะขัดขืน (CDM) โดยถูกจับกุมเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2566 และถูกตัดสินลงโทษตามกฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย มาตรา 50(j), 52(a) และ 52(b)

โกไท่ทุนอู ตัวแทนจากเครือข่าย PPNM แถลงว่า “เขาถูกจับขณะเข้าร่วมการปฏิวัติ หลังจากใช้ชีวิตในเรือนจำกว่า 1 ปี เขาเริ่มมีอาการชักและสูญเสียความทรงจำ ขณะนี้เรายังต้องตรวจสอบว่าเขามีโรคประจำตัวหรือไม่ และครอบครัวของเขาได้รับแจ้งเกี่ยวกับสุขภาพของเขาหรือไม่”

ในปี 2567 มีรายงานว่านักโทษการเมืองอย่างน้อย 22 รายเสียชีวิตในเรือนจำต่าง ๆ ทั่วเมียนมา จากการไม่ได้รับการรักษาพยาบาลที่เพียงพอ และในปี 2568 นี้ ก็ยังคงมีผู้เสียชีวิตในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นต่อเนื่อง ควบคู่กับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง ตามรายงานของเครือข่าย PPNM

อ้างอิง: The Irrawaddy Facebook Page

กองทัพอากาศเมียนมาทิ้งระเบิดเมือง Kyaukme หนึ่งวันหลังเจรจาสันติภาพล้มเหลว ไม่มีผู้บาดเจ็บ

กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) แถลงว่า กองทัพอากาศเมียนมาได้โจมตีทางอากาศใส่เมือง Kyaukme รัฐฉานตอนเหนือ จำนวน 2 ครั้งเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เมือง Kyaukme ตั้งอยู่ห่างจากเมืองหลวงประจำภูมิภาคล่าเสี้ยว ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 109 กิโลเมตร และห่างจากเมืองมัณฑะเลย์ไปทางตะวันออกประมาณ 172 กิโลเมตร ทั้งนี้ TNLA ได้เข้าควบคุมเมืองเจาก์เหมตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา

ล่วยแยอู โฆษก TNLA ให้สัมภาษณ์กับสื่อเมื่อวันอาทิตย์ว่า ฝ่ายรัฐบาลทหารได้เพิ่มความเข้มข้นในการโจมตีทางอากาศและปฏิบัติการทางทหาร ภายหลังการเจรจาหยุดยิงรอบที่สอง ซึ่งจีนเป็นผู้ไกล่เกลี่ย เมื่อวันที่ 28–29 เมษายน ไม่ประสบความสำเร็จ

ขณะเดียวกัน ชาวบ้านในเขตเมืองโม่เก๊า ให้ข้อมูลกับสำนักข่าว DVB ว่า มีหญิงคนหนึ่งเสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยเมืองโม่เก๊า อยู่ภายใต้การควบคุมของ TNLA ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม และตั้งอยู่ห่างจากเมืองมัณฑะเลย์ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 200 กิโลเมตร

TNLA พร้อมด้วยกองทัพพันธมิตรอีกสองกลุ่ม คือ กองทัพสัมพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (MNDAA) และกองทัพอาระกัน (AA) ซึ่งรวมเรียกกันว่า “พันธมิตรภราดรภาพ” ได้ขยายเวลาหยุดยิงที่ประกาศในเดือนเมษายนไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม เพื่อเปิดทางให้การบรรเทาทุกข์จากเหตุแผ่นดินไหวสามารถดำเนินต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม กองทัพเมียนมาได้ยุติการหยุดยิงฝ่ายเดียวของตนเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา

อ้างอิง: DVB English

นักเคลื่อนไหวแรงงานเมียนมาเผชิญการตรวจสอบ หลังจัดกิจกรรมวันแรงงานสากล

แหล่งข่าวเปิดเผยกับสำนักข่าว DVB ว่า นักเคลื่อนไหวแรงงานที่จัดกิจกรรมวันแรงงานสากลเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่เขตย่างกุ้ง กำลังเผชิญกับการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจของรัฐบาลทหาร

“หลังจากเราจัดพิธีเสร็จ ตำรวจก็เข้ามาสอบถามว่าเราได้ขออนุญาตจากรัฐบาลหรือไม่ พวกเขายังตรวจสอบใบอนุญาตขององค์กรเรารวมถึงความเชื่อมโยงกับกลุ่มอื่น ๆ ด้วย” นักเคลื่อนไหวแรงงานรายหนึ่งกล่าวกับ DVB โดยไม่เปิดเผยชื่อ

ในปีนี้ วันกรรมกรสากลถูกจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ โดยมีการรณรงค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์และขับร้องบทเพลงของสหภาพแรงงาน อย่างไรก็ตาม นักเคลื่อนไหวหลายรายเปิดเผยว่ารู้สึกกังวลว่าจะถูกลงโทษ หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เรียกให้ให้ถ้อยคำและเตือนเรื่องการใช้ถ้อยคำที่ถือว่า “ไม่เหมาะสม” ในข้อความวันกรรมกร

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา สหพันธ์แรงงานทั่วไปเมียนมา (FGWM) เรียกร้องให้นายจ้างจ่ายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 20,000 จ๊าต (ประมาณ 4 ดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับการทำงาน 8 ชั่วโมง

ทั้งนี้ รัฐบาลพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ซึ่งถูกยึดอำนาจในปี 2564 เคยกำหนดค่าแรงขั้นต่ำไว้ที่ 4,800 จ๊าตต่อวัน (ประมาณ 1 ดอลลาร์สหรัฐ) ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 โดยกฎหมายกำหนดให้ทบทวนค่าแรงทุก 2 ปี แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

อ้างอิง: DVB English
ภาพ: Human Rights Watch

นักเคลื่อนไหวแรงงานเมียนมาเผชิญการตรวจสอบ หลังจัดกิจกรรมวันแรงงานสากล

กองกำลังชาติพันธุ์ที่ต่อสู้กับรัฐบาลทหารเมียนมานานกว่า 10 ปีในรัฐฉาน เปิดเผยว่าได้ปฏิเสธคำขอของรัฐบาลทหารให้คืนพื้นที่ที่ยึดมาได้ แม้จะเผชิญแรงกดดันร่วมจากทั้งรัฐบาลทหารและทางการจีน กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธของแนวร่วมปลดปล่อยรัฐปะหล่อง (PSLF) ระบุว่าได้ยึดเมืองต่าง ๆ ไว้แล้ว 12 แห่งในรัฐฉานตะวันออก และอีกหลายแห่งในภูมิภาคมัณฑะเลย์ รวมถึงเมืองโม่เก๊าซึ่งเป็นแหล่งพลอยแดงชื่อดัง

TNLA เปิดเผยว่า ตัวแทนของกลุ่มได้รับเชิญให้เข้าร่วมการเจรจาหลายรอบ ซึ่งจีนเป็นผู้ไกล่เกลี่ย ณ เมืองคุนหมิง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน โดยในการเจรจาวันที่ 28–29 เมษายนที่ผ่านมา คณะของพลโท ตาโจ๊ะจ่า แห่ง PSLF และคณะของพลโท โกโกอู แห่งรัฐบาลทหาร ได้เจรจาร่วมกับ เติ้ง ซีจุน ทูตพิเศษของกระทรวงการต่างประเทศจีน

ฝ่าย TNLA เรียกร้องให้ยุติการโจมตีทางอากาศและการใช้ปืนใหญ่ใส่พื้นที่ของตน เปิดเสรีการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ที่ควบคุมไว้ และเปิดการค้าชายแดนกับจีนอีกครั้ง ขณะที่รัฐบาลทหารเรียกร้องให้ TNLA ถอนกำลังออกจากพื้นที่ที่ยึดครองหลังรัฐประหาร เช่น เมืองนองโจ ฮสีป เจาก์เหม และมก๊ก แต่ TNLA ปฏิเสธคำขอดังกล่าว

“ในฝั่งของเรา เราไม่สามารถตกลงที่จะคืนเมืองมก๊กหรือเมืองอื่น ๆ ให้กับรัฐบาลทหารได้ เรายังไม่สามารถยอมแพ้ได้ในตอนนี้” โฆษก TNLA ล่วยแยอู กล่าวในการแถลงข่าวออนไลน์เมื่อวันอาทิตย์ “เรายังคงปฏิบัติการตามแนวทางเดิม”

ทั้งนี้ RFA ได้ติดต่อสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำย่างกุ้งเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเจรจา แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ การเจรจารอบถัดไปจะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม

แม้ว่าจีนจะแสดงความสนใจในกระบวนการสันติภาพในสงครามกลางเมืองเมียนมาซึ่งยืดเยื้อมานานกว่า 4 ปี แต่เมื่อความขัดแย้งเริ่มลุกลามถึงชายแดนจีนเมื่อเดือนสิงหาคม ทางการจีนในเมืองรุ่ยลี่ได้ส่งจดหมายเตือนไปยังกลุ่มติดอาวุธ

“ผมต้องบอกว่าเป็นการข่มขู่ เราทุกคนน่าจะยังจำจดหมายของรัฐบาลรุ่ยลี่กันได้ดี” พลโท ตาปันลา กล่าว “ไม่ใช่แค่จดหมายนั้น ยังมีการกดดันทั้งทางคำพูดและวิธีการอื่นอยู่เสมอ แม้จะไม่ใช่คำขู่ตรง ๆ ก็ตาม”

TNLA ยังเปิดเผยเพิ่มเติมในแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ว่า รัฐบาลทหารยังคงทิ้งระเบิดใส่พื้นที่ที่กลุ่มควบคุมอยู่ รวมถึงเมืองโม่เก๊า หน่าวโฉ่ และ Kyaukme ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากต้องอพยพออกจากพื้นที่ โดยจะมีรายละเอียดเพิ่มเติมตามมา ทั้งนี้ RFA ได้ติดต่อพลตรี ซอ มิน ตุน โฆษกของรัฐบาลทหาร เพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับการโจมตีและการเจรจา แต่ไม่สามารถติดต่อได้

อ้างอิง: Radio Free Asia

Contributors

Friends Without Borders

มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน