เพื่อนข้างบ้าน: อัพเดทสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมาประจำสัปดาห์ [23 เมษายน 68]

เมียนมาส่อไร้ขยายหยุดยิง หลังแผ่นดินไหวดับ 3,700 คน ท่ามกลางเสียงเรียกร้องช่วยเหลือต่อเนื่อง

การหยุดยิงในเมียนมาที่ประกาศขึ้นหลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อเดือนก่อน มีกำหนดสิ้นสุดในวันอังคารนี้ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากองค์กรบรรเทาทุกข์และผู้ไกล่เกลี่ยระหว่างประเทศให้ขยายเวลาการหยุดยิงเพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งความช่วยเหลือ รัฐบาลทหารซึ่งยึดอำนาจในการรัฐประหารเมื่อปี 2021 และจุดชนวนสงครามกลางเมืองหลายฝ่าย ได้ประกาศว่าจะหยุดการโจมตีต่อกลุ่มติดอาวุธต่างๆ หลังเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ซึ่งคร่าชีวิตประชาชนไปแล้วกว่า 3,700 คน

อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์ความขัดแย้งและประชาชนในพื้นที่สู้รบระบุว่า มีการสู้รบเกิดขึ้นทั้งสองฝ่ายในช่วงเวลา 20 วันที่ประกาศหยุดยิง โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการส่งความช่วยเหลือในพื้นที่ตอนกลางของเมียนมา ซึ่งการหยุดยิงนี้จะสิ้นสุดลงในเวลาเที่ยงคืน (1730 GMT) โดยในช่วงเวลาดังกล่าว ยังมีการบันทึกเหตุโจมตีทางอากาศหลายครั้งโดยกองทัพในพื้นที่ที่ฝ่ายต่อต้านควบคุมอยู่ ส่งผลให้พลเรือนเสียชีวิตจำนวนมาก

สื่อของรัฐยังไม่มีรายงานการขยายเวลาหยุดยิงในช่วงเช้าวันอังคาร และโฆษกรัฐบาลทหารไม่สามารถติดต่อได้ในทันทีเพื่อตอบคำถามของ AFP

แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ทำให้ประชาชนกว่า 60,000 คนต้องอาศัยอยู่ในเต็นท์ชั่วคราว และมีผู้คนกว่า 2 ล้านคนตกอยู่ใน “ภาวะต้องการความช่วยเหลือและการคุ้มครองอย่างเร่งด่วน” ตามรายงานขององค์การสหประชาชาติ

แม้จะมีการสู้รบต่อเนื่อง กลุ่มมนุษยธรรมและชาติต่างๆ ในภูมิภาคยังคงเรียกร้องให้ขยายการหยุดยิง ขณะที่ความช่วยเหลือยังดำเนินต่อเนื่องเข้าสู่สัปดาห์ที่สี่

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา Min Aung Hlaing ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ได้เดินทางไปยังกรุงเทพฯ เพื่อพบกับ Anwar Ibrahim นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานหมุนเวียนของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) เพื่อหารือแบบไม่เปิดเผย

Anwar เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวหลังการหารือว่า เขายังได้พูดคุยกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของเมียนมา ซึ่งเป็นกลุ่มฝ่ายค้านที่ยอมรับการหยุดยิงหลังแผ่นดินไหวเช่นกัน โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า “จะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อหลีกเลี่ยงการสู้รบเพิ่มเติม”

อ้างอิง: The Irrawaddy

ค่ายผู้อพยพชายแดนไทย–กะเรนนีขาดแคลนข้าว หลังสหรัฐฯ ตัดงบช่วยเหลือ

ค่ายผู้อพยพภายในประเทศ (IDP) บริเวณชายแดนไทยกับรัฐกะเรนนีกำลังเผชิญวิกฤตด้านอาหารอย่างหนัก หลังผู้สนับสนุนหยุดให้ความช่วยเหลือด้านเสบียงตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตามรายงานจาก Khu Phray Reh ประธานค่าย ในช่วงหลายเดือนก่อนหน้านี้ ทางค่ายได้แจกจ่ายข้าวจากคลังที่เหลืออยู่ โดยให้คนละ 3 กิโลกรัม แต่นั่นเป็นการแจกจ่ายครั้งสุดท้าย

“ตั้งแต่มีนาคมที่ผ่านมา เราไม่ได้รับข้าวเพิ่มเติมเลย ตอนนี้เหลืออยู่นิดเดียว ซึ่งเราก็แบ่งกันอยู่ในชุมชน แต่แน่นอนว่าไม่เพียงพอ” Khu Phray Reh กล่าว

สถานการณ์เลวร้ายลงหลังจากสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) ยุติโครงการช่วยเหลือต่างประเทศ รวมถึงโครงการช่วยเหลือเมียนมา ส่งผลให้ค่ายต่างๆ ซึ่งพึ่งพาผู้บริจาคเป็นหลัก เริ่มขาดแคลนข้าวและสิ่งของจำเป็นขั้นพื้นฐาน ปัจจุบันค่ายแห่งนี้มีประชากรราว 3,000 คน อย่างไรก็ตาม บางส่วนเริ่มทยอยกลับไปยังบ้านเกิดในเมียนมา เนื่องจากไม่มีความช่วยเหลือเหลือเพียงพอ

ในอดีต ค่ายได้รับอาหารแห้ง เช่น ข้าว น้ำมัน เกลือ ถั่ว และปลาตากแห้ง ผ่านองค์กรท้องถิ่นที่ได้รับงบสนับสนุนจาก USAID อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ทางค่ายยังคงตั้งความหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากคณะกรรมการช่วยเหลือฉุกเฉินกะเรนนี (CTER-Karenni) และในระยะยาว ทางค่ายมีแผนจะเริ่มทำการเกษตรบริเวณใกล้ค่าย เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในอนาคต

“ที่ผ่านมาเราไม่ได้ทำการเกษตรในค่ายทุกปี แต่ปีนี้เราวางแผนจะเริ่มถางพื้นที่เพื่อทำไร่ แม้จะยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวอะไรได้จนกว่าจะถึงปีหน้า” Khu Phray Reh กล่าว

เขายังกล่าวอีกว่า เนื่องจากคนในค่ายไม่มีรายได้หรืออาชีพที่มั่นคง อาจทำให้เผชิญความยากลำบากในระยะยาว อย่างไรก็ตาม หากสามารถทำการเกษตรได้ ก็อาจเพียงพอสำหรับเลี้ยงดูคนในค่ายได้ทั้งปี

“ถ้าเราสามารถปลูกข้าวได้ แม้เพียงหว่านพันธุ์ข้าวหนึ่งตะกร้า ก็อาจเก็บเกี่ยวได้ราวสิบถึงยี่สิบกระสอบ ซึ่งเพียงพอต่อการดำรงชีวิตหนึ่งปี” U Byar Reh ผู้อยู่อาศัยในค่ายกล่าว

ในอดีต การแจกจ่ายข้าวจะอยู่ที่ 15 กิโลกรัมต่อผู้ใหญ่หนึ่งคนต่อเดือน และ 8 กิโลกรัมต่อเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเฉลี่ยแล้ว มีการแจกจ่ายข้าวระหว่าง 600 ถึง 700 กระสอบต่อเดือน

หลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ ระงับการสนับสนุนความช่วยเหลือต่างประเทศ ค่ายผู้อพยพไม่เพียงแต่ในพื้นที่ชายแดนไทย–Karenni เท่านั้น แต่รวมถึงค่ายต่างๆ ภายในรัฐกะเรนนีเอง ก็เริ่มเผชิญกับภาวะขาดแคลนข้าวอย่างรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

อ้างอิง: Kantarawaddy Times

กองกำลังต่อต้านยึดเมืองพะลั่นได้สำเร็จ Chin Brotherhood ชี้ เป็นชัยชนะของประชาชนผู้ถูกกดขี่

สมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Chin Brotherhood ให้สัมภาษณ์กับ Khonumthung News ว่า มีสมาชิกกองกำลังต่อต้านรวม 89 คนเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติการบุกยึดเขต Falam ทางตอนเหนือของ Chinland ซึ่งใช้เวลานานกว่า 5 เดือน

“ชัยชนะครั้งนี้เป็นของประชาชนผู้ถูกกดขี่ทุกคน” Salai William Chin เลขาธิการทั่วไปของกองกำลัง Chin National Defence Force (CNDF) กล่าวกับ DVB โดย CNDF เป็นสมาชิกในกลุ่ม Chin Brotherhood ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2023 โดยกลุ่มต่อต้านในพื้นที่

พะลั่นตั้งอยู่ห่างจากเมืองหลวงของรัฐ Hakha ไปทางเหนือราว 68 ไมล์ (109 กิโลเมตร) และถูกกองกำลังต่อต้านยึดคืนได้เมื่อวันที่ 9 เมษายน หลังเริ่มเปิดฉากโจมตีตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายนปีที่แล้ว มีอย่างน้อย 15 กลุ่มต่อต้านที่เข้าร่วมกับ CNDF และ Chin Brotherhood ในการรบครั้งนี้ หนึ่งในนั้นคือกองทัพ Arakan Army (AA) ซึ่งเริ่มให้การสนับสนุนกลุ่มต่อต้าน Chin หลังยึดเขต Paletwa ทางตอนใต้ของ Chinland ได้เมื่อเดือนมกราคม 2024 โดย Paletwa อยู่ห่างจาก Hakha ไปทางใต้ราว 287 ไมล์ (461 กิโลเมตร) ปัจจุบัน AA ควบคุมพื้นที่ในรัฐ Arakan แล้ว 14 จาก 17 เขต

Salai Timmy โฆษก CNDF เปิดเผยกับ Khonumthung News ว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิต 89 ราย มี 40 รายเป็นสมาชิก CNDF โดยรวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ 2 ราย อีก 30 คนสูญเสียแขนขา และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 500 คน การยึดเมือง Falam ได้ในครั้งนี้ ถือเป็นชัยชนะเชิงสัญลักษณ์ของ CNDF ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 4 ปีของการก่อตั้งเมื่อวันที่ 13 เมษายน

Salai William Chin ระบุเพิ่มเติมกับ DVB ว่า ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา มีสมาชิก CNDF เสียชีวิตรวมแล้ว 91 ราย และอีก 63 รายได้รับความพิการ จากการสู้รบกับรัฐบาลทหารกว่า 170 ครั้ง โดย CNDF อ้างว่าสามารถยึดฐานที่มั่นของรัฐบาลได้แล้ว 13 แห่งในพื้นที่ Chinland นับตั้งแต่ปี 2021 ปัจจุบัน มีเมืองใน Chinland อย่างน้อย 14 แห่งที่อยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายต่อต้าน รวมถึงเมืองชายแดนระหว่างเมียนมากับอินเดียอย่าง Rihkhawdar ขณะที่เมือง Hakha, Thantlang และ Tedim ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพ เมือง Thantlang อยู่ห่างจาก Hakha ไปทางตะวันตก 22 ไมล์ (35 กิโลเมตร) ส่วน Tedim อยู่ห่างออกไปทางเหนือ 177 ไมล์ (284 กิโลเมตร)

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า บ้านเรือนพลเรือนอย่างน้อย 7 หลังในเขต Mindat ทางตอนใต้ของ Chinland ได้รับความเสียหายจากการโจมตีทางอากาศเมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ได้อพยพออกจากพื้นที่ตั้งแต่ปีที่แล้ว

Chin Brotherhood เข้ายึด Mindat และ Kanpetlet ได้ตั้งแต่เดือนธันวาคม ทั้งสองเขตนี้อยู่ห่างจาก Hakha ไปทางใต้ประมาณ 171–189 ไมล์ (275–304 กิโลเมตร) ทั้งนี้ การโจมตีทางอากาศสองครั้งเมื่อวันที่ 9 และ 13 เมษายนที่ผ่านมา เคยคร่าชีวิตพลเรือนไปแล้ว 6 ราย รวมถึงเด็ก 2 คน และทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 10 ราย พร้อมความเสียหายต่อโบสถ์ Baptist ใน Mindat จากข้อมูลของ DVB มีการโจมตีด้วยอากาศและปืนใหญ่แล้ว 161 ครั้งทั่วประเทศ นับตั้งแต่รัฐบาลทหารประกาศหยุดยิงระหว่างวันที่ 2–22 เมษายน โดยนับตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม มีการโจมตีทั้งหมด 224 ครั้ง คร่าชีวิตประชาชนไปแล้ว 156 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีก 282 คน

Chin Brotherhood เป็นปีกติดอาวุธของสภาที่ปรึกษาแห่งชาติ Chin ชั่วคราว (ICNCC) ซึ่งก่อตั้งขึ้นหลังการรัฐประหารในปี 2021 โดยมี CNF, สมาชิกรัฐสภาที่ได้รับการเลือกตั้ง และข้าราชการในขบวนการอารยะขัดขืน (CDM) ที่ปฏิเสธทำงานให้รัฐบาลทหารร่วมกันก่อตั้ง

อย่างไรก็ตาม CNF แยกตัวออกจาก ICNCC เมื่อเดือนเมษายน 2023 เนื่องจากความขัดแย้งภายใน และตั้งกลุ่มใหม่ชื่อว่า Chinland Council ซึ่งต่อมาเกิดการปะทะกับฝ่าย Chin Brotherhood แต่ทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และรวมตัวกันเป็น Chin National Council ในที่สุด

อ้างอิง: DVB English

จนท.คุกมะเก้วยิงนักโทษการเมือง ดับอย่างน้อย 2 ราย เจ็บ 5 หลังเกิดปะทะกับ PDF

เครือข่ายนักโทษการเมืองเมียนมา (PPNM) เปิดเผยกับ DVB ว่า นักโทษการเมืองอย่างน้อย 2 รายถูกเจ้าหน้าที่เรือนจำยิงเสียชีวิต และอีก 5 รายได้รับบาดเจ็บ ระหว่างเหตุการณ์ “การเผชิญหน้า” ภายในเรือนจำ Magway เขต Magway เมื่อวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา หลังเกิดการปะทะกันระหว่างกองกำลังประชาชน (PDF) กับทหารของรัฐบาลทหารบริเวณนอกเรือนจำ

“เมื่อการสู้รบระหว่าง PDF กับทหารปะทุขึ้น นักโทษบางรายพยายามหลบหนี” Thaik Tun Oo โฆษก PPNM กล่าวกับ DVB เมื่อวันศุกร์ พร้อมระบุว่า ศพของนักโทษที่ถูกยิงเสียชีวิตไม่ได้ถูกส่งคืนให้กับครอบครัว แต่ถูกเจ้าหน้าที่เรือนจำเผาทำลายทันที

จากคำให้การของนักโทษที่ได้รับการปล่อยตัว ซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ ระบุว่า มีนักโทษ 70 คนจากทั้งหมด 115 คนที่มีกำหนดจะได้รับอภัยโทษและปล่อยตัวในวันที่ 17 เมษายน ได้รับการปล่อยตัวจริง

เรือนจำ Magway ยังเป็นสถานที่ควบคุมตัวนักโทษการเมืองระดับสูงอย่างอดีตหัวหน้ารัฐมนตรีประจำเขต Magway Aung Moe Nyo และอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร U Tar

อ้างอิง: DVB English
ภาพ: Mizzima

กองทัพเมียนมาปล่อยนักโทษกว่า 1 แสนรายหลังรัฐประหาร แต่เป็นนักโทษการเมืองไม่ถึง 9% – NGO ชี้หวังสร้างภาพดีในสายตาต่างชาติ

จากข้อมูลของ DVB ระบุว่า นับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 รัฐบาลทหารใน Naypyidaw ได้ออกอภัยโทษและปล่อยตัวนักโทษทั้งหมด 106,810 ราย จากการอภัยโทษ 18 ครั้ง แต่ในจำนวนนั้นมีนักโทษการเมืองเพียง 8,873 ราย หรือคิดเป็นเพียง 8.31% เท่านั้น ในการอภัยโทษล่าสุด มีนักโทษได้รับการปล่อยตัว 4,893 ราย โดยในจำนวนนี้มีนักโทษการเมืองเพียง 378 ราย ตามข้อมูลของเครือข่ายนักโทษการเมืองเมียนมา (PPNM)

Thaik Tun Oo โฆษกของ PPNM ให้สัมภาษณ์กับ DVB ว่า “[รัฐบาลทหาร] ยังคงควบคุมนักโทษการเมืองไว้ เพราะกลัวว่าหากปล่อยตัวออกมา จะนำไปสู่การต่อต้านที่เพิ่มขึ้น” สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP) ระบุว่า จากนักโทษทั้งหมด 29,030 รายที่ถูกจับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2021 ปัจจุบันยังมีนักโทษ 22,197 รายที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำทั่วประเทศ

Aung Myo Kyaw จาก AAPP ให้สัมภาษณ์ว่า การออกอภัยโทษของรัฐบาลทหารเป็นกลยุทธ์เพื่อปรับภาพลักษณ์ของตนต่อประชาคมโลก พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด รวมถึงที่ปรึกษาแห่งรัฐ Aung San Suu Kyi และประธานาธิบดี Win Myint ที่ยังถูกคุมขัง

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย Anwar Ibrahim ยังได้กล่าวชื่นชม Min Aung Hlaing สำหรับการปล่อยนักโทษ ระหว่างการพบกันที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา

อ้างอิง: DVB English

กกต.รัฐบาลทหารเมียนมายืนยันเลือกตั้งเริ่ม ธ.ค. แม้แผ่นดินไหวหนัก ยอดตายพุ่งกว่า 4,000 ราย

สิบสองวันหลังเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ในภาคกลางของเมียนมา คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งสหภาพ (UEC) ภายใต้รัฐบาลทหาร ออกมายืนยันตามคำประกาศของ Min Aung Hlaing ว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะเริ่มต้นในเดือนธันวาคม โดยแจ้งเตือนพรรคการเมืองทุกพรรคให้ดำเนินการลงทะเบียนให้เสร็จภายในวันที่ 9 พฤษภาคม เพื่อให้มี “เวลาเพียงพอในการรณรงค์เลือกตั้ง”

Sai Htay Aung หัวหน้าพรรค Tai-Leng Nationalities Development Party ให้สัมภาษณ์กับ DVB ว่า “เราเคยมีตัวอย่างมาแล้วว่า รัฐบาลทหารสามารถเดินหน้ารับรองรัฐธรรมนูญปี 2008 ได้ แม้จะเกิดพายุไซโคลน Nargis ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนมากกว่าเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้เสียอีก” โดยพายุไซโคลน Nargis เมื่อปี 2008 คร่าชีวิตผู้คนกว่า 130,000 ราย ตามการประเมินของสหประชาชาติ

ขณะนี้มีพรรคการเมืองทั้งหมด 54 พรรคที่ลงทะเบียนใหม่เพื่อเข้าร่วมการเลือกตั้งภายใต้รัฐบาลทหาร โดยมีเพียง 9 พรรคเท่านั้น รวมถึงพรรคสนับสนุนรัฐบาลทหารอย่าง Union Solidarity and Development Party (USDP) ที่จะแข่งขันในระดับประเทศ

ข้อมูลจาก DVB ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวแล้ว 4,346 ราย บาดเจ็บ 7,890 ราย และยังสูญหาย 210 ราย ณ วันพุธ ขณะที่ตัวเลขอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลทหารเมื่อวันอังคารระบุว่า มีผู้เสียชีวิต 3,645 ราย บาดเจ็บ 5,017 ราย และสูญหาย 148 ราย