ทิศทางการเล่าเรื่องวัฒนธรรมเมียนมาด้วยอาหารของ “ทริช” จากคลับอาหาร ไวน์บาร์ และหนึ่งมื้อเพื่อเพื่อน

เรานัดพบคู่สนทนาที่ The Goodcery ที่ตั้งอยู่ใจกลางย่านช้างม่อย มันมีทั้งร้านกาแฟ อาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ตที่จำหน่ายสินค้าในท้องถิ่นในเวลากลางวัน และร้านไวน์บาร์ในเวลากลางคืน 

และที่นี่ทำให้เราได้พบกับทริช ผู้ซึ่งย้ายรกรากมาตั้งถิ่นฐานที่เชียงใหม่กว่า 5 ปีแล้ว

“ฉันคือเชฟ ผู้ประกอบการ และนักกิจกรรม” คู่สนทนาตรงหน้าแนะนำตัวกับเราแบบนี้ 

ในวันที่เธอต้องย้ายรกรากมาตั้งตัวที่ประเทศไทย เธอไม่ได้มีเครื่องมืออะไรนอกจากอาหารที่เธอใช้เป็นเครื่องมือทำมาหากิน และการทำงานเพื่อสังคมที่เป็นเนื้อหนังสำคัญในชีวิต เธอจึงใช้ทั้งสองอย่างเป็นทิศทางในการใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศไทยทั้งที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดเชียงใหม่

ถ้าถามว่าทั้งสองอย่างประสบความสำเร็จแค่ไหน ทริชเปิดมื้ออาหารแค่เดือนละครั้งในชื่อ Supper Club แต่มียอดจองเต็มทุกที่นั่ง อาหารทุกอย่างอร่อย และสามารถเล่าเรื่องรากเหง้า ถิ่นกำเนิด และความรุ่มรวยของวัตถุดิบได้เป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ทำให้เธอต่อยอดนำมันออกมาเล่าเรื่องอย่างเสียงดังฟังชัดในที่สาธารณะผ่านการออกบูธ ทำเวิร์กช็อป ไปจนถึงการต่อยอดเป็นไวน์บาร์สุดเนี๊ยบที่ชื่อ And then we drink. ที่ทริชเสิร์ฟเอาอาหารจากถิ่นกำเนิดคู่ไปกับเครื่องดื่มหมักบ่มจากทั่วทุกมุมโลก

ส่วนเรื่องการเคลื่อนไหวทางสังคม ด้วยรากเหง้าที่เธอทำงานเหล่านี้มาตลอดตั้งแต่อยู่ที่เมียนมา มันจึงเป็นสิ่งที่เธอไม่มีทางละทิ้งมันไปเด็ดขาด เพราะจากการทำมาหากินด้วยอาหาร เธอระดมทุนเพื่อนำเงินส่วนหนึ่งกลับไปช่วยถิ่นกำเนิดของเธออยู่หลายต่อหลายครั้ง

คนธรรมดาวันนี้จึงยังเล่าเรื่องของสุภาพสตรีที่ใช้อาหารเป็นเครื่องมือที่ส่งผลกระทบทางสังคมหลายอย่าง และเรื่องราวของทริชก็เข้าเค้าเหล่านั้นทั้งหมด เพราะมันอุดมไปด้วยแพสชั่นที่หลอมรวมทั้งอาหาร และการเคลื่อนไหวสังคมอย่างเต็มเปี่ยม

การเดินทางผ่านอาหารจึงเริ่มต้นอีกครั้งจากตรงนี้

จากย่างกุ้งสู่บางกอก 

ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจและการเติบโตอื่นๆ ในเมียนมากำลังเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น สิ่งที่ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงคือ การรัฐประหารของรัฐบาลทหาร 

ช่วงเวลานั้นเต็มไปด้วยความวุ่นวายอลหม่านจากการหนีตาย ความไม่มั่นคงปลอดภัยในชีวิต และความเสี่ยงในหลายมิติ นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารต่างออกมาส่งเสียงและจุดยืนของตัวเองอย่างเข้มข้นผ่านหลายเครื่องมือ ซึ่งเรื่องของทริชก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น 

เธอจึงตัดสินใจย้ายมาที่กรุงเทพมหานครเพื่อเริ่มต้นชีวิตอีกบทหนึ่ง แต่เธอก็ไม่ได้ละทิ้งการช่วยเหลือพี่น้องในบ้านเกิดของเธอ ทริชร่วมงานกับองค์กรใหญ่ๆ ในการทำอาหารเพื่อเรี่ยไรเงินบริจาค ไปจนถึงการจัดกิจกรรมระดมทุนในหลากหลายรูปแบบ เช่น นิทรรศการ หรืองานแสดงศิลปะ

“แต่การใช้ชีวิตที่นั่นก็ไม่ได้ง่าย” ทริชรีบเบรกเรา

“มันมีบาดแผลมากมาย การย้ายถิ่นฐานทำให้ฉันสูญเสียบ้าน สูญเสียธุรกิจ สูญเสียครอบครัว สูญเสียเพื่อน บางคนถึงขั้นติดคุกและถูกฆ่า จริงๆ การที่ฉันย้ายมาที่นี่ ฉันไม่มีแผนการดำเนินชีวิต และฉันไม่รู้ว่าฉันกำลังทำอะไรแบบไม่มีจุดหมาย มันค่อนข้างหดหู่” อุปสรรคและความยากลำบากที่ทริชกำลังเผชิญ มีสิ่งเดียวที่ยึดโยงเธอไว้ และทำให้เธอยังอยากใช้ชีวิตต่อไป นอกจากการช่วยเหลือเพื่อนของเธอแล้ว

มันคือ อาหาร 

ชีวิตที่ไปต่อได้ด้วยอาหาร

ทริชไม่ได้เล่าเรียนในสายบริหารธุรกิจ แต่การที่เธอเติบโตมาในครอบครัวที่ทำธุรกิจ ทำให้เธอเห็นและเข้าใจกลไกของมันอยู่บ้าง แต่เหตุผลหลักๆ ของการเปิดร้านอาหารในย่างกุ้งของทริช มาจากเหตุผลไม่กี่ข้อ

“ฉันสนใจเรื่องการหมักดองมาก และอยากศึกษาวัฒนธรรมการหมักแบบพม่า ซึ่งมีรากลึกและใช้วิธีดั้งเดิมที่ยังไม่ค่อยมีคนตะวันตกรู้จัก ฉันอยากค้นคว้าเรื่องนี้ให้มากขึ้น” ทริชบอกเหตุผลข้อแรกที่เธอเริ่มศึกษาเรื่องอาหารอย่างจริงจัง ซึ่งไปสุดในระดับที่เธอเข้าไปทำงานในร้านอาหารระดับมิชลินแห่งหนึ่ง

เพราะกระบวนการทำงานในร้านอาหารมีขั้นตอนมากมายที่เธอได้เรียนรู้ เธอบอกว่า การวิจัยและพัฒนาอาหารมันทำให้เธอสนุกกับการทดลองมากขึ้น โดยเฉพาะการหมักดองที่ทำให้เธออินและศึกษามันอย่างซึมลึก 

“ข้อที่สองคือ ฉันเห็นว่าเมืองมีการพัฒนาเยอะมากโดยเฉพาะด้านธุรกิจ แต่สิ่งที่ดึงดูดฉันมากที่สุดคือกลุ่มผู้หญิงรุ่นใหม่ที่จัดตลาดเกษตรกรทุกสุดสัปดาห์ ซึ่งกลายเป็นพื้นที่ที่องค์กรด้านสังคมและมนุษยธรรมเข้ามามีส่วนร่วม มันเป็นช่วงเวลาที่สวยงามมาก” ทริชบอกเรา

แต่ก็อย่างที่เล่าไป ด้วยการรัฐประหาร ทำให้เธอสูญเสียทุกอย่างไปจากการย้ายถิ่นฐาน

ซึ่งไม่ได้หมายความว่าทริชจะไม่ได้ทำอะไรเกี่ยวกับอาหารในแบบของเธอเอง เธอจึงทำวิดีโอสั้นออนไลน์ในชื่อ Bamama โดยทริชเอาองค์ความรู้ที่เธอศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่น ตั้งแต่การเล่าเรื่องเมนูต่างๆ รากเหง้าวัตถุดิบ หรือวัฒนธรรมการกิน ผ่านตัวตนที่ซน แซ่บ และจัดจ้าน ซึ่งมันอาจจะผิดแผลกจากภาพลักษณ์ผู้หญิงเมียนมาในกรอบสังคมท้องถิ่น แต่นั่นคือสิ่งที่ทริชอยากนำเสนอเพื่อเป็นภาพให้เพื่อนหญิง พลังหญิง ได้เห็นถึง “การเป็นตัวเอง” อย่างถึงแก่น

“มันเป็นวิธีที่ฉันได้เชื่อมต่อกับอาหารอีกครั้งในฐานะเชฟ เพราะในช่วงสองปีนั้นในกรุงเทพ ฉันหยุดทำอาหารอย่างมืออาชีพโดยสิ้นเชิง” ทริชว่า

ทริชแบ่งปันกับเราอีกว่า หนึ่งในคอนเทนต์ที่มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมากของช่องคือ การเล่าเรื่องวัฒนธรรมการ​ทานอาหารด้วยมือของคนเมียนมาที่มาจากรากเหง้าเดิม ซึ่งกระแสตอบรับจากคลิปนี้เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนได้อย่างน่าสนใจ เพราะมีเสียงสะท้อนจากคนรุ่นใหม่ว่ามันคือสิ่งที่น่ารังเกียจ ขยะแขยง และมันน่าอาย

“ความคิดเห็นเหล่านั้น ทำให้ฉันศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัฒนธรรมของฉัน เมื่อฉันเริ่มทำวิดีโอเหล่านั้น ฉันรู้สึกเชื่อมโยงกับรากเหง้าของฉันมากกว่าที่เคย และฉันเริ่มค้นคว้าเพิ่มเติมกับแม่ของฉัน ฉันเริ่มเรียนรู้วิธีการปรุงอาหารอย่างถูกต้อง เช่น อาหารพม่าแบบดั้งเดิมที่ถูกต้องกับแม่ของฉัน แล้วฉันก็เริ่มติดต่อกับคุณยายและคุณป้าชาวพม่ารุ่นเก่าหลายคนที่พลัดถิ่นอยู่ที่ชายแดน บางคนเป็นเหมือนคุณป้าของฉัน และฉันได้เชื่อมต่อกับพวกเขาในรูปแบบที่แตกต่างออกไป” ทริชเสริม

ทริชย้ำกับเราว่า เพราะสองปีที่กรุงเทพฯ ไม่ได้ทำให้เธอเป็นเชฟเต็มตัวอย่างที่เธออยาก ดังนั้น Bamama จึงช่วยเติมเต็มในสิ่งที่ขาดหายไป 

และทำให้เธอไปต่อในสายอาหารได้อย่างแข็งแรงและสวยงาม

คลับอาหารในเชียงใหม่ ที่มีทั้งเพื่อนและความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม

ทริชรับทราบมาบ้างตั้งแต่อยู่กรุงเทพฯ ว่า เชียงใหม่คือศูนย์กลางชุมชนชาวเมียนมา และเธอมีความตั้งใจอยากสร้างตำแหน่งแห่งที่บางอย่างเพื่อซัพพอร์ตเพื่อนพ้องในชุมชน และความต้องการในจิตใจ ดังนั้น ทริชจึงย้ายรกรากอีกครั้ง เพื่อมาอยู่ที่เชียงใหม่

“ฉันเช่าบ้านหลังใหญ่เพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับเพื่อนๆ ในชุมชน และอยากทำให้มันเป็นศูนย์พักพิงที่ปลอดภัยให้กับเพื่อนๆ ของฉัน ซึ่งตอนแรกฉันแค่ทำอาหารและใช้เวลาร่วมกับเพื่อนๆ จากนั้นเครือข่ายของฉันก็เริ่มขยายออกไปเรื่อยๆ มีนักเคลื่อนไหวและเพื่อนๆ เข้ามาร่วมมากขึ้น ทุกครั้งที่ฉันทำโมฮิงกา (ขนมจีนน้ำยาพม่า เป็นอาหารประจำชาติที่นิยมกินเป็นมื้อเช้า และนิยมอย่างแพร่หลาย) ก็จะมีคนแวะเวียนเข้ามาไม่ขาดสาย”

ทริชบอกว่า จากหม้อขนมจีนน้ำยาพม่าที่ทำให้ผู้คนแวะเวียนมาทักทายและกินอาหารของเธอ จึงเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เธออยากเล่าเรื่องรากเหง้าผ่านมื้ออาหารอย่างจริงจัง 

จึงเป็นที่มาของการเปิดเซสชั่นอาหาร Fine Dining ในชื่อ Supper Club หรือคลับอาหารที่เป็นพื้นที่เล่าเรื่องของเธอทุกเดือน เดือนละครั้ง

“แนวคิดในการทำ Supper Club มีสองอย่างคือ หนึ่ง-การสร้างการทูตอาหารด้วยการใช้มันเป็นสื่อกลางในการเล่าเรื่อง ทั้งเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ งานสังคมสงเคราะห์ และสร้างความรู้สึกให้เหมือนอยู่บ้าน และสอง-การกินอาหารร่วมกัน ฉันคิดว่าเราลืมสิ่งนั้นไปแล้ว ครอบครัวในพม่าฉันจะนั่งลงบนโต๊ะด้วยกัน แล้วเราก็กินอาหารด้วยมือของเรา ด้วยระบบทุนนิยมและเศรษฐกิจทุกวันนี้ ผู้คนไม่สามารถหาเงินมาซื้อโต๊ะยาวตัวใหญ่แม้แต่ตัวเดียวเพื่อมานั่งกินข้าวด้วยกันได้ ผู้คนไม่มีเวลาและพลังงานที่จะทำเช่นนั้นอีกต่อไป ดังนั้นการมี Supper Club จึงทำให้เกิดประสบการณ์-การกินอาหารกับคนแปลกหน้าแบบสุ่มๆ นั่งติดกัน พวกเขาทั้งหมดมาในฐานะคนแปลกหน้า แล้วพวกเขาทั้งหมดก็กลับบ้านในฐานะเพื่อน และฉันชอบสิ่งนั้น”

คลับอาหารของทริชพยายามนำเสนออาหารพม่าแบบดั้งเดิมให้มากที่สุดผ่านความทรงจำเกี่ยวกับอาหารของเธอ ทริชพยายามสอดแทรกวัตถุดิบบางอย่างที่ให้ความรู้สึกเฉพาะตัวอย่างที่เธอคิด แต่มันสามารถทำให้ผู้ร่วมโต๊ะอาหารจดจำมัน และสัมผัสประสบการณ์อย่างที่เธอได้ค้นพบ

เธอแอบเล่าว่า ตัวละครเอกที่ทริชมักใส่ลงไปในอาหารอยู่บ่อยๆ คือ ใบชาดอง ซึ่งมันเป็นรากเหง้าสำคัญในวัฒนธรรมพม่า ที่เธอใส่มันลงไปในเมนูเพื่อนำเสนอตัวตนทางอาหารนี้ ซึ่งบ่อยครั้งเธอนำเสนออาหารชาติพันธุ์จากพี่น้องชนเผ่าอื่นๆ เช่น ไทใหญ่ กะเหรี่ยง เพื่อให้เป็นส่วนผสมในเชิงวัฒนธรรมที่หลอมรวมความเป็นเมียนมาอีกด้วย

Supper Club ถูกจองจนหมดอย่างรวดเร็วเสมอเมื่อมีการเปิดในแต่ละรอบ นอกจากความอร่อยและเรื่องราวที่ทริชพยายามสื่อสารแล้ว ทริชได้รับรู้ว่ามีลูกค้าหลายคน จากหลายชนชาติทานอาหารคล้ายๆ กับที่เธอเสิร์ฟ แต่เปลี่ยนวัตถุดิบเพียงเท่านั้น

“วัฒนธรรมอาหารมันต่างกันเล็กน้อย การที่ฉันรู้ว่าหลังจากทำ Supper Club แล้ว จริงๆ เราไม่ได้ต่างกันมากนัก และมีเพียงพรมแดนโง่ๆ และอะไรบางอย่างนั่นแหละที่แยกเราออกจากกัน แต่วัฒนธรรมมีคุณค่าร่วมกัน และเราแบ่งปันสิ่งเหล่านั้นอยู่มากมาย” ทริชเสริม

จากคลับสู่บาร์ที่ยังเล่าเรื่องวัฒนธรรมอาหารพม่า

Supper Club ของทริชไปได้ดีแค่ไหน นอกจากยอดจองแล้ว มันทำให้เธอได้พบกับผู้ประกอบการและผู้คนใหม่ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งในส่วนภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจ จนวันหนึ่งที่เธอได้เจอว่าที่คู่ค้าซึ่งเชี่ยวชาญในเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์แบบหมักบ่ม 

นั่นคือจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้เธอได้เล่าเรื่องอาหารในวิธีใหม่ๆ นั่นคือ การเปิดไวน์บาร์

“แต่เอาจริงๆ ฉันอยากเปิดบาร์เพราะฉันชอบดื่มน่ะ” ทริชบอกเราก่อนจะระเบิดหัวเราะลั่น

ทริชเล่าให้ฟังแบบไม่ติดตลกว่า เธอพบกับพาร์ทเนอร์คนนี้ในงานเสวนาแห่งหนึ่ง ก่อนที่จะได้เจอกันใน Supper Club ในฐานะลูกค้า จนเป็นการชักชวนมาทำธุรกิจใหม่ด้วยกันที่ทริชเองตอบตกลง เพราะทั้งคู่ยึดในวิธีคิดเดียวกันทั้งการเคลื่อนไหวเพื่อสังคมผ่านเครื่องมือต่างๆ และการสนับสนุนชุมชน จนกลายมาเป็น And then we drink. ไวน์บาร์ในร้าน The Goodcery ที่เปิดช่วงกลางคืนใจกลางย่านช้างม่อย

“แม้จะเป็นโมเดลธุรกิจ แต่สิ่งที่เราทั้งสองมองตรงกันคือ เราอยากเปลี่ยนภาพจำของคนไทยต่อคนพม่า และเปลี่ยนภาพจำของคนพม่าต่อคนไทยว่า ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันสามารถเกิดขึ้นได้ผ่านธุรกิจ เราทำงานร่วมกันในไวน์บาร์และร้านอาหารที่ซึ่งเราสามารถจ้างงานคนชายขอบ และให้คนไทยกับคนพม่าทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กัน มันคือขบวนการที่ทรงพลังมากในสายตาฉัน”

คุณน้ำตาลและคุณเบน-พาร์ทเนอร์ของทริชเก่งเรื่องไวน์ เธอเก่งเรื่องอาหาร ทริชจึงนำเสนออาหารพม่าในรูปแบบ a mee ที่หมายถึงอาหารที่เข้ากันดีกับเครื่องดื่มแอลกอฮลล์ เป็นเหมือนทาปาสง่ายๆ ที่ออกแบบมาให้เข้ากันดีกับไวน์ในราคาที่จับต้องได้ ทริชเอาโมฮิงกา หรือขนมจีนน้ำยาพม่ามาเสิร์ฟเป็นสลัดที่คนพม่าทางตอนใต้กิน เข้มข้น จัดจ้าน และใช้ปลาดุกร้อยเปอร์เซนต์

ทริชบอกว่า มันเป็นเมนูขายดีสุดๆ ของที่นี่เลยล่ะ

“คอนเซ็ปต์ของไวน์บาร์นี้สอดคล้องกับสิ่งที่ฉันยึดถือในฐานะเชฟ เราไม่ได้เน้นแค่เรื่องการดื่ม แต่เราเน้นไวน์ธรรมชาติและไวน์ไบโอดีไดนามิกที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ส่วนฉันเองก็ยึดแนวทางเดียวกันกับอาหารของฉัน ฉันเน้นวัตถุดิบ และให้ความสำคัญกับเรื่องวัฒนธรรม รวมถึงอยากสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยในท้องถิ่น ในบาร์ของเรา เราเลือกใช้วัตถุดิบอย่างชีส เนย หรือของที่คนมักคิดว่า “ต้องนำเข้า” ทั้งหมดจากผู้ผลิตในเชียงใหม่ เพื่อแสดงให้เห็นว่าวัตถุดิบในประเทศของเราก็มีคุณภาพไม่แพ้กัน” ทริชอธิบายเพิ่ม

อาหารกับการเคลื่อนไหวเพื่อชุมชนคือเรื่องเดียวกัน

นอกจากธุรกิจอาหารแล้ว ทริชยังใช้เวลาที่มีในการเคลื่อนไหวเพื่อเพื่อนๆ ในชุมชนที่อาศัยในไทย และอยู่ในบ้านเกิดเมืองนอนของเธอที่เมียนมา บางครั้งทริชไปตั้งบูธขายขนมจีนพม่าบ้าง หรือขายขนมจีนที่พัฒนาร่วมกับคุณแม่ของเธอให้เป็นแบบกึ่งสำเร็จรูป ซึ่งเก็บไว้ได้นาน และจำหน่ายในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยทริชแบ่งรายได้บางส่วนกลับไปช่วยชุมชนอย่างน้อย 30 เปอร์เซนต์จากยอดขาย

ไม่ใช่แค่การระดมทุน แต่ทริชยังทำงานร่วมกับเด็กพลัดถิ่น และผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยเธอลงไปสอนเด็กเหล่านี้ทำอาหาร เพื่อให้วัฒนธรรมอาหารที่เป็นรากเหง้าของเยาวชนเหล่านี้ยังคงอยู่กับพวกเขา

“มันรู้สึกดีมากเลยนะที่ได้ดูแลเด็กๆ เพราะการได้เห็นพวกเขายังมีความผูกพันกับรากเหง้าของตัวเองมันก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เด็กๆ ที่ย้ายมาอยู่ต่างประเทศในฐานะผู้ลี้ภัย หรือเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนพลัดถิ่น มักจะลืมวัฒนธรรมของตัวเอง ภาษาเดิมก็ค่อยๆ เลือนหายไป เพราะพวกเขาต้องเริ่มพูดภาษาไทย และปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ซึ่งเมื่อมีการปรับตัว วัฒนธรรมและอาหารดั้งเดิมก็ค่อยๆ หายไปด้วย เด็กบางคนถึงขั้นไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าอาหารประจำชาติของเราคืออะไร ทั้งๆ ที่ยังเด็กมากอยู่เลย

“เพราะฉะนั้น ฉันคิดว่ามันสำคัญมากที่จะเริ่มปลูกฝังเรื่องวัฒนธรรมตั้งแต่พวกเขายังเล็ก เพื่อที่จะได้รักษาวัฒนธรรมผ่านทางเด็กๆ เหล่านี้ไว้ ในขณะเดียวกัน แม้ว่าเราจะชนะสงครามในบ้านเกิด ฉันก็รู้ว่าการฟื้นฟูประเทศมันไม่ใช่เรื่องง่าย และมันไม่ใช่เรื่องของผู้ใหญ่เท่านั้น แต่มันคือเรื่องของคนรุ่นใหม่ในอนาคต” ทริชขยายความ

“แล้วอาหารสำคัญกับคุณยังไง” เราถามคำถามสุดท้ายกับเธอ

“อาหารเป็นสิ่งที่ไร้กาลเวลา เป็นสิ่งเดียวที่ฉันสามารถพกพาไปด้วยได้ในฐานะผู้พลัดถิ่น ฉันอาจไม่มีสมบัติติดตัวมากนัก แต่ฉันมีความทรงจำ วัฒนธรรม และรากเหง้า ที่สามารถถ่ายทอดต่อได้ผ่านอาหาร ไม่ว่าจะในขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ตาม” ทริชตอบเรา


ในสถานการณ์แผ่นดินไหวที่เมียนมา ทริชเชิญชวนผู้อ่านและผู้ติดตามของเพื่อนไร้พรมแดนร่วมสมทบทุนช่วยเหลือภัยพิบัติต่อผู้ประสบภัยในเมียนมาโดยตรงได้จากลิงก์นี้ ช่องทางการบริจาคทั้งหมดในลิงก์นี้ปลอดภัย และเงินบริจาคทั้งหมดที่ทุกองค์กรได้รับจะนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยตรง

Contributors

อาร์ตี้ แสงสุวรรณ์

ไทยแลนด์เวรี่กู้ด ไทยตุ๊ดเวรี่เวลล์

ธนากร สุยาลักษณ์

ผู้ที่ชื่นชอบการ Backpack เที่ยวคนเดียวพร้อมกับกล้องคู่ใจ ออกเดินทางเพื่อตามหาสถานที่และมิตรภาพใหม่ๆ