รองผู้ว่า ลงมา!
รองผู้ว่า ลงมา!
รองผู้ว่า ลงมา!
เสียงเรียกของพี่น้องผู้ชุมนุมชาติพันธุ์ดังอื้ออึง กึกก้องไปทั่วศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ หลังผ่านพ้นเวลา 11 นาฬิกาตามเส้นตายที่ผู้ชุมนุมกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ลงมารับหนังสือข้อเรียกร้อง ที่ต่อให้สุดท้ายรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่จะลงมารับหนังสือก็จริง แต่นั่นก็ไม่ได้การันตีว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไร
พี่น้องผู้ชุมนุมใช้พื้นที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ สร้างหมู่บ้านเล็กๆ ไว้พักอาศัย เพื่อปักหลักเรียกร้องเอาคำตอบจากผู้มีอำนาจ ให้รับฟังและแก้ไขทุกอย่างให้มันถูกต้องเพราะพวกเขาไม่อยากเสียทั้งที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย และวิถีชีวิตที่มีมา
เราขอชวนผู้อ่านทำความเข้าใจกับสถานการณ์ตอนนี้กันก่อน ผ่านการเล่าย้อนกลับไปตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พี่น้องชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมือง และเกษตรกรรายย่อยได้จัดการชุมนุมเพื่อประท้วงกฎหมายที่ละเมิดสิทธิชุมชน จากการรัฐบาลออกกฎหมายจำกัดสิทธิในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยผ่านการประกาศเขตป่า
แม้มีการหารือกับรองนายกรัฐมนตรี ประเสริฐ จันทรรวงทองแต่ยังไม่มีความคืบหน้า จึงนำมาสู่การที่กลุ่มผู้ชุมนุมจึงปักหลักประท้วงที่ศาลากลางเชียงใหม่
เพื่อนไร้พรมแดนที่ร่วมสังเกตุการณ์ชุมนุมจึงใช้โอกาสนี้พูดคุยกับพี่น้องชาติพันธุ์ที่ปักหลักชุมนุม เพื่อทำความเข้าใจฉากทัศน์เหตุการณ์ทั้งหมด รวมถึงเหตุผลจริงๆ ของคนที่อยู่กับป่าว่า ทำไมกฎหมายเหล่านี้ถึงทำร้าย ทำลายวิถีชีวิต อาชีพ และความเป็นอยู่ทั้งหมด ไปจนถึงสิ่งที่ผู้มีอำนาจควรแก้ไขให้ถูกต้อง และสิ่งที่ประชาชนพอทำได้
เพื่อช่วยเหลือให้พี่น้องได้กลับไปอยู่กับผืนป่า ตามวิถีชีวิตของพวกเขา

อย่าให้กฎหมายกระทบผู้บริสุทธิ์
– พี่น้องชายชาวกะเหรี่ยง
“พวกเราอาศัยอยู่ในป่าและภูเขา การดำรงชีวิตของเราจึงต้องพึ่งพาธรรมชาติ เราไม่สามารถหาเลี้ยงชีพในเมืองได้ ตลอดระยะเวลาสี่สิบกว่าปีที่ผมทำมาหากินที่ผ่านมา เราทำกินบนผืนดินของเรามาโดยตลอด ในอดีต การใช้ทรัพยากรจากป่าไม่เคยเป็นปัญหา เราอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุล แต่ในปัจจุบัน ไม่ว่าเราจะเก็บอาหารจากป่า ตัดไม้ไผ่เพื่อสร้างบ้าน หรือทำไร่ทำนา ล้วนกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
“เราไม่สามารถทำอะไรได้เลย แม้แต่การตัดไม้มาสร้างบ้าน การเตรียมพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งเป็นวิถีดั้งเดิมของเราก็ไม่สามารถทำได้ ทุกอย่างกลับกลายเป็นข้อห้าม ทำให้เราไม่สามารถดำรงชีวิตตามวิถีที่เราสืบทอดกันมาได้
“ลูกหลานของเราที่ไปเรียนในเมืองกลับมา ก็มักจะเล่าให้ฟังว่า มีคนกล่าวหาว่าชาวเขาทำลายป่า เผาป่า แต่เราซึ่งอยู่กับป่าและธรรมชาติมาตลอด ย่อมเข้าใจธรรมชาติเป็นอย่างดี เราต้องลุกขึ้นมาอธิบายและบอกเล่าเรื่องราวของเรา ให้ผู้คนเข้าใจถึงวิถีชีวิตที่พึ่งพาและดูแลธรรมชาติ หากเราไม่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความจริง คนก็จะยังคงข่มและกล่าวหาเราไปเรื่อยๆ เราขอเพียงแค่ว่า ไม่ว่ากฎหมายจะเป็นอย่างไร ขอเพียงอย่าให้กระทบต่อชีวิตของผู้บริสุทธิ์ บางคนทำผิดกฎหมายมากมายแต่กลับลอยนวลไร้ความผิด ขณะที่พวกเราทำมาหากินสุจริต กลับถูกจับกุม ถูกกล่าวหา แม้แต่การทำไร่ทำนาก็กลายเป็นความผิด เรารู้สึกว่านี่ไม่ยุติธรรมเลย
“พวกเราจึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลแค่กับพวกเราเพียงกลุ่มเดียว แต่ยังลุกลามไปทั่ว แม้รัฐบาลจะเคยให้คำมั่นว่าจะดำเนินการแก้ไข แต่พวกเราก็เฝ้ารอมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว โดยไม่มีความคืบหน้าใดๆ วันนี้เราจึงต้องมาเพื่อติดตามและเรียกร้องให้มีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะหากปล่อยให้ปัญหานี้ยืดเยื้อต่อไป ผลกระทบก็จะขยายวงกว้างขึ้น จนอาจส่งผลถึงลูกหลานของเราในอนาคตพวกเรากังวลใจ เพราะตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เราใช้ชีวิตด้วยการทำไร่ทำนาในพื้นที่ของบรรพบุรุษ อยู่ ๆ วันหนึ่ง หากพื้นที่ที่เราเคยทำกินมาตลอดต้องตกเป็นของคนอื่น แล้วลูกหลานของเราจะอยู่กันอย่างไร? นี่คือสิ่งที่เราต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไข ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป“

วันหนึ่งผลผลิตของเราอาจจะสูญหายไป
– พี่น้องหญิงชาวกะเหรี่ยง
“เหตุผลที่เราต้องมาอยู่ที่นี่ก็เพราะว่าเราไม่ได้รับอนุญาตให้ทำไร่ทำสวนในพื้นที่ของเราเอง จึงจำเป็นต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ แม้ว่าเราจะพยายามใช้ชีวิตอยู่ในป่าอย่างสงบ แต่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็มักเข้ามารบกวนเราอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงรวมตัวกันจากหลายพื้นที่ ด้วยความหวังว่าจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้
“แต่เราเจอที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้ามารบกวน ข่มขู่ และแจ้งว่าจะประกาศพื้นที่ของเราให้เป็นอุทยาน แต่เมื่อพวกเรารวมตัวกันและลุกขึ้นต่อสู้ พวกเขาก็หยุดการกระทำดังกล่าวและไม่ได้เข้ามารบกวนเราอีก อย่างไรก็ตาม พวกเรายังคงเฝ้าระวังอยู่ตลอดเวลา เพราะหากเราไม่ลุกขึ้นมาต่อสู้ พวกเขาก็คงจะเข้ามารบกวนเรื่อย ๆ เนื่องจากต้องการพื้นที่แห่งนี้ เราอาศัยอยู่ในป่าและภูเขามาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ดำรงชีวิตด้วยการทำไร่ทำนาในผืนดินของพ่อแม่ ซึ่งพ่อแม่ของเราก็สืบทอดมาจากปู่ย่าตายายเช่นกัน
“เมื่อมาถึงรุ่นของเรา เราก็ยังคงทำไร่ทำนาต่อไป และหวังว่าลูกหลานของเราจะสามารถใช้ผืนดินนี้ดำรงชีพเช่นเดียวกับบรรพบุรุษของเรา แต่หากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ยังคงดำเนินการเช่นนี้กับเรา รุ่นลูกรุ่นหลานของเราก็คงไม่มีโอกาสได้ทำกินบนผืนดินแห่งนี้อีกต่อไป เราก็เลยต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ หากเราไม่ได้ดำรงชีวิตด้วยการทำไร่ทำนา ผลผลิตที่เรามีอยู่ก็จะค่อย ๆ ลดลงและสูญหายไปในที่สุด ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องสืบสานการทำไร่หมุนเวียนต่อไป เพื่อให้เกิดความสมดุลและคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตที่เราสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น”

เราไม่ได้ตัดไม้ทำลายป่า
– พี่น้องหญิงชาวปกาเกอะญอ
“วันนี้มาเรียกร้องสิทธิ์อยู่กับป่าในนามชาวปกาเกอะญอค่ะ เพราะว่าเราอยู่กับป่า เราใช้พื้นที่ทำกิน เพราะเขามีร่างกฎหมายออกมาว่าทำไม่ได้ เราก็เลยอยากได้พื้นที่ทำกินของเรา โดยส่วนตัวที่บ้านทำไร่หมุนเวียน แล้วเขาไม่ให้เผาไร่ก็มีผลกระทบว่า เราก็ต้องใช้สารเคมี แล้วเขาก็จะประกาศเป็นพื้นที่เขตอุทยาน แล้วชาวบ้านเขาไม่ยอมเพราะเขาจะเดือดร้อน เราก็ต้องไปหาของป่า ไปจับปลา แล้วชาวบ้านก็กลัวจะโดนจับ
“เราลำบากมากเพราะเราทำอะไรไม่ได้เลยในป่า เพราะเราอยู่มาก่อนที่เค้าจะประกาศหรือออกกฎหมาย แต่เราชาวปกาเกอะญอโดนใส่ร้ายว่าเราเป็นพวกตัดไม้ทำลายป่า เพราะเขาไปเห็นว่าเราทำไร่ทำนา ก็เลยเข้าใจอย่างนั้น แต่จริงๆ เราก็ต้องทำแนวกันไฟทุกๆ ปี เราก็โดนใส่ร้ายอีกว่าเราตัดไม้ทำลายป่า เขาก็เลยจะมายึดเป็นพื้นที่อุทยาน เราทำไร่หมุนเวียนปีละครั้ง เป็นวิถีชีวิต เพราะชาวบ้านไม่ได้มีเงินเดือนเหมือนอาชีพอื่นๆ เราก็ต้องจับปลา หาของป่า ปลูกข้าว เราอยากให้เขาไปดูในป่าเพื่อให้เห็นว่าป่าไม้ที่เรารักษามันอุดมสมบูรณ์
(ระหว่างที่สัมภาษณ์ ยังไม่มีตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ลงมารับจดหมายจากผู้ชุมนุม)
“ก็โกรธนะคะ แค่หนังสือฉบับเดียว ทำไมลงมารับยากเย็นขนาดนี้ แล้วเราก็ไม่ได้มาแค่ครั้งเดียว เรารวบรวมเงิน เก็บหอมรอมริบกันเพื่อจะลงมาที่นี่ เราเอาข้าวสารมารวมกันเป็นกองกลางเพื่อขายแล้วเอาเงินมาเป็นทุน เราก็ขับรถกันลงมา แล้วเราต้องลงมาหลายครั้ง อย่างพี่ที่เป็นแม่บ้านเองก็มาทุกครั้งไม่ได้ ก็ต้องส่งสามีมา เพราะเราก็ต้องอยู่บ้านดูแลลูก จะมาทีก็มากันทีละเยอะๆ”

คนออกกฎหมายมันชั่วมาก
– พี่น้องชายชาวม้ง
“ผมขึ้นเวทีไปสื่อสารความเดือดร้อนที่พี่น้องเราเจอจากการเปลี่ยนกฎหมายมาตรา 64 เป็นพระราชกฤษฎีกา ที่ระบุไว้ว่า ชาวบ้านที่เป็นคนพื้นเพดั้งเดิม จะอยู่ตรงนี้ภายในอีก 20 ปี ต้องขออนุญาตอธิบดีกรมป่าไม้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ในความเป็นจริง ถ้าถึงเวลานั้นรัฐเบี้ยว แล้วเราไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในป่าต่อ ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลเหมือนกัน
“คนออกกฎหมายฉบับนี้เขามีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนอยู่แล้วครับว่า เขาจะไล่คนที่อยู่ในเขตป่าหรืออุทยานภายในอีก 20 ปีนี้ โดยมีขั้นตอนของกฎหมายที่เขียนล็อกเอาไว้ ซึ่งคนที่คิดออกกฎหมายฉบับนี้จึงเป็นคนที่ชั่ว (เน้นเสียง) มากๆ ที่ออกกฎหมายแบบนี้ได้ เพราะพวกเราสามารถพิสูจน์ได้ว่าเราอยู่ในที่ตรงนี้มาได้เป็นร้อยปีจากภาพถ่ายทางอากาศ
“พวกเราคาดการณ์ไว้อยู่ว่าน่าจะมีผู้ใหญ่ในบ้านเมืองให้ความสำคัญ และปัญหาที่เกิดขึ้นที่นี่ คาดการณ์ว่าจะเป็นผู้ว่า (ราชการจังหวัด) เพราะเขาเป็นเจ้าเมืองที่ปกครองจังหวัดนี้ แต่ว่ารองผู้ว่ามาก็โอเคอยู่ วันนี้เราตั้งใจไว้อยู่แล้วว่า ถ้าเราไม่ได้ชัยชนะ เราก็จะไม่กลับ แต่เราก็กังวลเพราะว่าหลายๆ ครั้งที่เรามาชุมนุม เราเจอปัญหาอย่างหนึ่งคือ เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีความบริสุทธิ์ใจที่จะแก้ปัญหาให้เรา อันนี้คือสิ่งที่เรากังวลอยู่
“การต่อสู้ในครั้งนี้เราอาจจะไม่ได้ทั้งหมดตามแถลงการณ์ แต่เราคาดหวังให้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ยกเลิกการประกาศใช้ในพื้นที่ๆ พวกเราอยู่ นั่นคือสิ่งที่เราต้องการ ซึ่งพี่น้องเราที่มารวมตัววันนี้ เรามีอุดมการณ์เดียวกันว่า เราอยากให้กฎหมายฉบับนี้มันถูกเพิกถอนไป หรือบังคับใช้เฉพาะบางส่วนที่เป็นโทษ หรือเป็นคุณกับพวกเรา เราก็ต้องต่อสู้ให้บรรลุวัตถุประสงค์นี้ให้ได้”

ถ้าเรื่องนี้สำเร็จ เราจะได้ความสบายใจ
– พี่น้องชายชาวม้ง
“วันนี้มารวมพลัง และเรียกร้องสิทธิในที่ดิน ที่อยู่อาศัย และที่ทำกินที่เราอยู่อาศัยกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษเป็นร้อยๆ ปี แต่ ณ วันนี้เรายังไม่ได้รับความเป็นธรรม และไม่ได้มีสิทธิตามกฎหมายที่เราประชาชนคนไทยพึงจะได้รับ ก่อนหน้านี้มีการประกาศ พ.ร.บ. ป่าไม้และอุทยานที่จะเวนคืนที่ทำกิน และที่อยู่ของพี่น้อง ที่ไม่ยุติธรรม ซึ่งรอบที่แล้วพี่น้องของเรามายื่นแล้วครั้งหนึ่งต่อรัฐมนตรีฯ และควรจะนำเข้าที่ประชุม ครม. ควรคุยกันในระดับผู้บริหารประเทศ แต่ผ่านไปเป็นเดือนๆ แล้วก็ยังไม่เห็นการเคลื่อนไหวและคืบหน้าใดๆ ซึ่งเราอยากให้ระดับผู้บริหารประเทศลงมารับหนังสือและจัดการเรื่องนี้ด้วยตัวเอง
“ผลกระทบที่เราได้รับคือ เมื่อมี พ.ร.บ. นี้ออกมา การทำมาหากิน การเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์จะถูกจำกัดมากขึ้น และเราเองรู้สึกไม่ยุติธรรม และไม่มีความปลอดภัยในที่ดินของเราเองตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ซึ่งสิ่งที่ชาวบ้านเผชิญคือความไม่แน่นอน จะทำให้กฎหมายเปลี่ยนไป และทำให้เราถูกบีบที่จะต้องออกจากพื้นที่ไปโดยปริยาย รวมถึงเราต้องอยู่ด้วยความหวาดกลัว
“ถ้าเรื่องนี้ถูกแก้ไข อย่างน้อยๆ เราจะได้ความสบายใจเป็นอย่างแรก ที่จะสามารถทำมาหากินของตัวเอง เลี้ยงสัตว์บนพื้นที่ของตัวเอง ไม่ต้องมากลัวเรื่องการถูกจับกุม ถูกเวนคืนที่ดิน ระบบนิเวศและวิถีชีวิของเราก็จะยังอยู่ต่อไป ซึ่งสิ่งที่ประชาชนช่วยพวกเราได้คือ การสื่อสารออกไปสู่โลกภายนอก ถึงพี่น้องที่อยู่ในเมือง รวมถึงผู้นำต่างๆ ให้เขาได้รับรู้ว่าเรากำลังเผชิญกับปัญหา ถูกกดขี่ข่มเหงในที่อยู่ ที่อาศัย”